ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังเชิงรุก-เชิงรับ ลดผู้ป่วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช เดินหน้าผลักดันยุติการใช้สารอันตราย "ไกลโฟเซต"

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จึงร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประจำปี 2563 หัวข้อ "ก้าวไปข้างหน้าสร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย" เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแแรมริชมอนด์ จังหวัด

น.ส.สุธาทิพย์ บูรณสถิตนนท์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช ปี 2558-2562 แนวโน้มผู้ป่วยลดลงดังที่เห็นได้จากสถิตินำเข้า ในปี 2563 เมื่อสำรวจอัตราป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 23 พฤศจิกายน จะพบอัตราป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชตามจังหวัดต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดนครศรีธรรมราช

น.ส.สุธาทิพย์ เสริมว่า ทางกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ทั้งเฝ้าระวังเชิงรับด้วยการเก็บข้อมูลหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล ชี้เป้าปัญหา เผยแพร่และกำหนดมาตรการ และกรมควบคุมโรคได้ประกาศ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ปัจจุบันกำหนดให้พิษจากสารกำจัดศัตรูพืชเป็นหนึ่งในโรคจากการประกอบอาชีพ ตามมาตรา 7 วรรค 1 อยู่ระหว่างการประกาศ ให้รัฐมนตรีลงนาม หากประกาศแล้วจะมีกลไกการดำเนินงานรองรับ ดูตั้งแต่ผู้ป่วยและผู้ที่สงสัยว่าป่วย โดยกำหนดให้หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รายงานให้ทราบตามมาตรา 30 หากพนักงานเจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยก็ต้องแจ้งเช่นเดียวกันตามมาตรา 31 ถ้าเป็นสถานประกอบการที่ผลิตสารกำจัดศัตรูพืช แล้วพบว่าลูกจ้างมีอาการป่วยหรือสงสัยก็ต้องแจ้งเช่นกันตามมาตรา 30 หากผู้ป่วยตรงตามเกณฑ์ เช่น มีความเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือเสียชีวิต ต้องมีการออกสอบสวนหาสาเหตุ ส่วนการเฝ้าระวังเชิงรุก หน่วยบริการสาธารณสุขจะประเมินความเสี่ยง พร้อมคัดกรองด้วย Reactive Paper หากผลการคัดกรองซ้ำพบว่ามีอาการจะต้องส่งต่อรักษาเพิ่มเติม

ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตจากสารพาราควอตในจังหวัดกาญจนบุรี น.ส.สุธาทิพย์ เพิ่มเติมข้อมูลจากการสอบสวนว่า ผู้ป่วยเพศชายอายุ 53 ปีได้เดินทางกลับมาที่จังหวัดกาญจนบุรีในเดือนพฤษภาคม โดยทำงานรับจ้างถางหญ้าและใช้สารพาราควอตกำจัดหญ้าบริเวณคันนา ซึ่งผสมโดยใช้อัตราส่วน 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นไปทั้งหมด 4 ถัง โดยมีระยะทางในการฉีด 40 เมตร ตั้งแต่ 9-11 โมง สวมใส่เพียงเสื้อแขนยาวและกางเกงขาสั้น ไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันอื่น หลังฉีดพ่นเกิดอาการปวดศีรษะและมีแผลบริเวณขาหนีบ จากนั้นไม่กี่วันญาติก็นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล อาการสำคัญคือหอบเหนื่อยมา 4 วันก่อนมาถึงโรงพยาบาล มีไข้ก่อนหนึ่งวัน พร้อมแจ้งว่าไม่มีโรคประจำตัว อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส จึงกังวลว่าจะเป็นโควิด-19 แต่ผลเอกซเรย์เห็นปอดแถบขาว ตรวจหาเชื้อโควิดไม่เจอ หาวัณโรคก็ไม่เจอ จึงรักษาตามอาการ ผู้ป่วยมีไข้และหอบเหนื่อยมากขึ้น ญาติจึงให้ข้อมูลการฉีดพ่นยาและยาหกใส่ขาหนีบ ซึ่งพยาบาลได้ตรวจพบรอยแผลตอนใส่สายสวนปัสสาวะ เมื่อตรวจปัสสาวะพบผลตรวจสารพาราควอตเป็นบวก แม้จะเปลี่ยนวิธีการรักษาแต่ก็ช้าเกินไป ผู้ป่วยจึงเสียชีวิตในที่สุด

"ผลการตรวจยืนยันจากห้องแล็บพบพาราควอตในปัสสาวะของผู้ป่วยให้ผลบวก อาการผู้ป่วยเข้าได้กับอาการจากการสัมผัสพาราควอต เพราะมีอวัยวะเป้าหมายของพิษอยู่ที่ปอด ทำให้หอบเหนื่อย ผลเอกซเรย์ยังพบปอดมีฝ้าขาว แพทย์จึงยืนยันว่าเสียชีวิตจากพาราควอต" น.ส.สุธาทิพย์ ย้ำและทิ้งท้ายว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายในการยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส แต่สารไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดศัตรูพืชอีกตัวที่ยังอยู่แค่จำกัดการใช้งานแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ได้ยกเลิกห้ามใช้ จึงต้องผลักดันให้สารนี้ยุติการใช้เช่นเดียวกับสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพราะทั้ง 3 ตัวเป็นสารอันตรายที่กระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ควบคู่กับการผลักดันให้สารไกลโฟเซตยุติการใช้ ต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพ ลดจำนวนผู้ป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนสถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปัจจุบันนั้น ทาง นายศรัณย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ให้ข้อมูลภายในงาน ว่า สารเคมีส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในการเกษตรนั้นนำเข้ามาแทบทั้งหมด ประกอบด้วย สารกำจัดแมลง สารป้องกันกำจัดโรคพืช สารกำจัดวัชพืช โดยแนวโน้มการนำเข้าลดลงเรื่อย ๆ เช่น สารกำจัดวัชพีช ปี 2560 เคยนำเข้า 148,421 ตัน ในปี 2562 ลดการนำเข้าเหลือ 88,846 ตัน ส่วนปริมาณการส่งออกนั้นมีจำนวนไม่มาก มีที่ผลิตเองได้บ้างจะเป็นชีวภัณฑ์หรือสารสกัดจากพืช ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการซื้อสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งการซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาต สินค้าต้องมีเลขทะเบียน ตรวจสอบฉลากให้มีข้อความครบถ้วน ภาชนะไม่รั่ว ซึม บวม มีรอยฉีกขาด ดูวัน/เดือน/ปีผลิตและวันหมดอายุ ศึกษาข้อแนะนำ วิธีการใช้ ให้ถูกต้องตามฉลาก และทำความเข้าใจในคำแนะนำทุกครั้งก่อนใช้ สังเกตเครื่องหมายเตือนภัย ภาพสาธิตและแถบสีบนฉลาก

"เรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สำเร็จ ต้องอาศัย 5 ปัจจัย ได้แก่ รู้จักศัตรูพืช เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ รู้จักเทคนิคการพ่นที่เหมาะสม รู้จักสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และรู้จักความปลอดภัยในการใช้สาร ข้อสุดท้ายสำคัญมาก โดยช่องทางในการรับสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ ทางผิวหนัง ทางการหายใจ และทางปาก อย่างการปกป้องดวงตาและผิวหนัง ต้องสวมครอบตานิรภัยขณะทำการเตรียมหรือฉีดพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันการซึมผ่านบริเวณดวงตาและผิวหนังโดยรอบ การเลือกชนิดหน้ากากกรองอากาศสำหรับพ่นสารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ ชนิดใช้แล้วทิ้งสำหรับงานฉีดพ่นน้อยหรือใช้งานเป็นครั้งคราว ชนิดเปลี่ยนไส้กรองไส้กรองเดียว น้ำหนักเบา - ใช้งานได้ยาวกว่าใช้แล้วทิ้ง เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องฉีดพ่นเป็นประจำ ชนิดเปลี่ยนไส้กรองคู่ หายใจสะดวก - ใช้งานได้ยาวนานกว่าไส้กรองเดี่ยว เหมาะสำหรับผู้ที่งานที่ต้องฉีดพ่นเป็นประจำและต่อเนื่อง

ส่วนการปกป้องผิวหนัง ต้องสวมใส่ชุดที่ปลอดภัย สวมถุงมือป้องกันสารเคมีชนิดหนาหรือบาง เลือกสวมถุงมือยางในไดร์ลหรือยางนีโอพรีนขณะเตรียมและฉีดพ่นสารเคมี ใส่รองเท้าบูทยางป้องกันสารเคมีที่ผลิตจากยางธรรมชาติหรือนีโอพรีนเมื่อต้องยก เคลื่อนย้าย ผสม หรือฉีดพ่นสารเคมี โดยให้ปลายขากางเกงคลุมทับรองเท้าบูทเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังหากมีการหกรั่วไหล ห้ามใช้รองเท้าทีทำจากหนังสัตว์หรือผ้า ล้างรองเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้กับเกษตรกรในการใช้สารที่มีประสิทธิภาพตรงกับศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรประเมินว่าจะใช้สารหรือไม่ใช้สาร ต้องมุ่งเน้นการใช้งานอย่างถูกต้อง และให้คำแนะนำเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย