ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยกรณีปิดคอนเสิร์ตบิ๊กเมาน์เทน พิจารณาจากความเสี่ยงที่แปรตามจำนวนคน เมื่อประเมินเอาความเสี่ยงมาคูณกับจำนวนคน หากมีมาก โอกาสแจ๊กพอตติดเชื้อจะสูง ยิ่งการอยู่ร่วมกันแออัดโซนหน้าเวที สวมหน้ากากอนามัยไม่ถึง 50%

จากกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สั่งปิดสถานที่จัดคอนเสิร์ตบิ๊กเมาน์เท่นตั้งแต่เวลา 14.00 น.วันที่ 13 ธ.ค.2563 เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการตามมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19ได้ ส่งผลให้การจัดคอนเสิร์ตในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่ 2 ของงานต้องยุติก่อนกำหนดเดิมนั้น

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องโรคติดต่อจะเกี่ยวกับความเสี่ยง โดยความเสี่ยงจะแปรตามจำนวนคน ซึ่งการประเมินความเสี่ยงจะเอาความเสี่ยงมาคูณกับจำนวนคน หากมีรวมกลุ่มกันจำนวนมาก โอกาสแจ็คพอตก็จะสูงขึ้น เพราะมีโอกาสที่จะมีคนติดเชื้อ 1 รายเข้าไปอยู่ร่วมก็จะมากขึ้น รวมถึง โอกาสที่จะกระจายเชื้อไปยังคนอื่นก็จะมากขึ้นเพราะมีคนมาอยู่ใกล้ชิดจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาความเสี่ยงก็จะลดลง

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า กรณีบิ๊กเมาน์เท่นจากการประเมินพบว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นพรวด จากการที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนมาอยู่ร่วมกันจำนวนมาก อีกทั้ง ผู้ร่วมงานมีการสวมหน้ากากอนามัยภายในงานไม่ถึง 50 % อาจจะมีการสวมในช่วงที่ผ่านประตูแต่เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่ได้สวม แม้จะเป็นการจัดงานกลางแจ้งที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการจัดงานในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แต่การที่คนจำนวนกว่า 3 หมื่นคนมาอยู่ร่วมก็เพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันแบบแออัดในโซนหน้าเวที ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยและมีการตะโกนร้องเพลง โอกาสที่คนติดโควิด-19 หลุดเข้าไปสัก 1 รายเข้าไปอยู่ร่วมกันโอกาสแพร่เชื้อไปคนอื่นก็จะมากขึ้น

“ก่อนที่จะจัดงานผู้จัดได้มีการเสนอแผนที่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้ว ซึ่งเมื่อถึงวันจัดงานจริงก็สามารถปฏิบัติตามได้ค่อนข้างดี แต่การบริหารความเสี่ยงหน้างานทำได้ไม่ดี เช่น ผู้ร่วมงานไม่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้จัดงาน และการเว้นระยะห่าง หากมีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและเว้นระยะห่างได้ดี ความปลอดภัยก็จะมากขึ้น ซึ่งหากมีคนติดเชื้อขึ้นมากจริงๆ โดยปกติจะต้องติดตามผู้สัมผัสอีก 20-40คน แต่หากเป็นคอนเสิร์ตที่มีคนมาก ผู้ติดเชื้อ 1 รายจะต้องติดตามไปอีกราว 100 คน”นพ.โสภณกล่าว 

ทั้งนี้ แม้ยังไม่พบผู้ติดโควิด-19ไปร่วมงานนี้ แต่ในจำนวนผู้ไปร่วมงานที่ได้สแกนไทยชนะนั้น ได้มีการส่ง SMS ให้คำแนะนำเพื่อเป็นการเฝ้าระวังตัวเอง หากไม่มีอาการป่วยให้สังเกตอาการตัวเองจนครบ 14 วัน ถ้ามีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส และท้องเสียให้รีบไปตรวจหาโควิด-19ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านพร้อมโชว์SMSให้เจ้าหน้าที่ดูจะได้รับการตรวจหาเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ในการจัดงานลักษณะเดียวกันนี้รวมถึงงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ดีที่สุดคือจัดงานขนาดเล็กมีคนร่วมจำนวนไม่มาก หรือถ้ามีคนมากภายในงานควรมีการแบ่งโซนหรือจัดพื้นที่เป็นซอยๆ ไม่ให้มีการข้ามโซนหรือซอย จะเป็นการจำกัดความเสี่ยงไม่ให้กระจาย สมมติมีคนร่วม 30,000 คน แต่จัดซอยย่อยๆราว 100 คน หากพบผู้ติดเชื้อในซอยไหนก็จะกระจายได้น้อยกว่าการไม่แบ่งซอยย่อย อีกทั้ง ไม่ควรจัดงานในลักษณะที่นำคนจาคนละจังหวัดมารวมกัน เพราะหากมีคนติดเชื้อในงานจะทำให้เพิ่มกระจายออกไปในจังหวัดต่างๆ แต่หากเป็นคนจากพื้นที่หรือจังหวัดเดียวกันก็เท่ากับความเสี่ยงเท่าเดิม