ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี 

ผมโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับอาจารย์มงคล ณ สงขลา ในฐานะคณะทำงานด้านวิชาการ เมื่อครั้งที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลัก คือ เตรียมข้อมูลเชิงวิชาการ ติดตามท่านไปในที่ต่างๆ รวมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร กว่า 10 ปีที่รู้จักกับท่าน นอกจากความเมตตา สมถะ เรียบง่าย ตั้งใจทำงานให้ชาวบ้านแล้ว หากยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังงดงามในความทรงจำ นั่นคือ ความกล้าหาญ กล้าทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายก็ตาม

และความกล้าหาญนี้ นำมาซึ่งประโยชน์สุขของผู้คนมากมาย ในแผ่นดิน

ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนจดจำท่าน ในฐานะผู้ประกาศซีแอลยา (Compulsory Licensing on Government Use) ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาในราคาถูก ต่ออายุผู้คนที่ยากไร้ได้มากมายมหาศาล แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า “ซีแอลยา” เคยถูกเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ถึง 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายของบัตรทอง โดยคุณหมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพในขณะนั้น แต่กลับได้รับการปฏิเสธทั้ง 2 ครั้ง

มาถึงยุคอาจารย์มงคล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอสงวนเสนอเรื่อง ซีแอลยารักษาโรคเอดส์กลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง คณะทำงานวิชาการจึงได้ศึกษาและทบทวนถึงเหตุผลที่ทำให้รัฐมนตรีสองท่านไม่เห็นชอบ พร้อมทั้งเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ผลการประชุมสรุปว่าสามารถทำได้ โดยถูกต้องตามกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

คณะทำงานวิชาการจึงจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์มงคลเพื่อดำเนินการ อีก 1 เดือนต่อมา ยาโรคหัวใจ มะเร็ง และอื่นๆ ได้รับการเสนอเพื่อประกาศซีแอล ตามลำดับ ท่ามกลางแรงเสียดทานจากคนในกระทรวงสาธารณสุขและบริษัทยาในต่างประเทศ และส่งผลให้ราคายาอีกหลายรายการลดราคาทันที โดยไม่ต้องต่อรองราคา

ความกล้าหาญของท่านมิได้ปรากฏแค่ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากย้อนหลังไปในสมัยที่ท่านเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ ท่านได้ยกเลิกผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ให้เหลือเพียง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อลดความขัดแย้งของการทำงานระหว่าง ผสส.และอสม. แต่ถูกทางกระทรวงสั่งตั้งกรรมการสอบสวนว่าทำผิดนโยบาย แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็เห็นด้วยกับสิ่งนี้ ส่วนกลางจึงสั่งยกเลิก ผสส.ทั่วประเทศ เหลือเพียง อสม. เพียงอย่างเดียว อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ช่วงที่ท่านเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ท่านเข้ามาแก้ปัญหาการรอขึ้นทะเบียนยาที่ค้างอยู่กว่า 4,000 ตำรับ ด้วยการเชิญบริษัทยามาลงขันตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ประเมิน โดยออกระเบียบต่างๆอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การขึ้นทะเบียนยาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ราคายาบางรายการจาก 200 บาท เหลือเพียง 7 บาท ประหยัดงบประมาณของรัฐทันทีกว่า 2,000 ล้านบาท

แต่ไม่ทันไร ท่านก็โดนร้องเรียนโดยกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต (ปปช.) ตั้งกรรมการสอบสวนด้วยข้อหาว่ารีดไถบริษัทยา และนำเรื่องนี้มาโจมตีท่านตอนเป็นแคนนิเดตปลัดกระทรวง แต่ด้วยความโปร่งใส ทำทุกอย่างด้วยความสุจริต ท่านก็รอดพ้นมาได้ แต่ก็เนิ่นนาน กว่าจะจบจนเกษียณอายุราชการไปแล้ว

ความกล้าหาญอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจดจำ คือ การเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สมัยนั้นอาจารย์มงคลเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความเป็นผู้นำของท่าน จึงสามารถขยายผลของโครงการนี้ได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศ แม้จะมีอุปสรรคต่างๆนา จนประสบความสำเร็จในที่สุด หากไม่มีท่าน เราคงไม่เห็นความสำเร็จของ โครงการ 30 บาทรักษาโรค เช่นนี้

ความกล้าหาญของท่านในฐานะผู้นำ ยังทำให้เกิดโครงการต่างๆอีกนับไม่ถ้วนที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านต่อเมือง อาทิ ช่วงที่เกิดความไม่สงบที่ค่อนข้างรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านจัดทำโครงการพยาบาล 3,000 คน ที่ออกมาในเวลานั้น ส่งผลต่อการจัดการรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ดีขึ้น การจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ การจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ การผลักดันการฟอกไต ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

นอกจากงานในระบบราชการแล้ว อาจารย์มงคล ยังสละเวลามาเป็นประธานมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทยคนแรก ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้อาจารย์ ภญ.สำลี ใจดี ผู้ล่วงลับ มีดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข นอกเหนือจากระบบราชการปกติ และยังเป็นที่ให้กำเนิดสำนักข่าว HFocus ที่ขับเคลื่อนงานสาธารณสุข ในรูปแบบใหม่อีกด้วย

นี่เป็นเพียงเรื่องราว บางส่วนเท่านั้น ที่ผมรับรู้และพอจำได้

เรื่องราวเหล่านี้ได้บันทึกขึ้น ไม่ใช่เพราะท่านเป็นปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี หากเพราะท่านเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง แตกต่างเพียงความมุ่งมั่น กล้าหาญ ทำงานอย่างสุจริต เพื่อบ้านเมือง จึงถือเป็นแบบอย่าง ที่คนรุ่นหลังอย่างพวกเราควรจดจำ