ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มแล้ว! ให้ความรู้วัคซีนโควิด19 บุคลากรทางการแพทย์ ประกอบการตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีด! เผยแผนการจัดสรรวัคซีนระยะแรกให้บุคลากรด่านหน้า ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องด่านหน้าทั้งรัฐและเอกชนทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลปัจจุบันวัคซีนโควิดมี 4 แพลตฟอร์ม เปิดข้อดีข้อด้อยเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดบรรยายพิเศษผ่านออนไลน์ให้แก่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เรื่อง “วัคซีนโควิด-19 พร้อมแล้ว... ท่านพร้อมหรือยัง..” โดยมีวิทยากรเชี่ยวชาญ คือ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์วันนี้ก็เพื่อสื่อสารให้ทราบว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนงานเรื่องวัคซีนอย่างไร และเมื่อการให้วัคซีนมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งทั้งหมดท่านทั้งหลายต้องตัดสินใจเอง โดยนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณา เพราะวัคซีนโควิดครั้งนี้จะเป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้แม้วัคซีนยังมาไม่ถึง เพราะอยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากเกิดเหตุที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาต่อกันระหว่างอียูและยูเค แต่เรากำลังจัดหาช่องทางอื่นๆต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างการจัดหา เราจำเป็นต้องเตรียมระบบ เตรียมแผนรองรับการจัดสรรวัคซีน โดยเฉพาะทางสมุทรสาคร รวมไปถึงอ.แม่สอด ทั้งหมดเราต้องเตรียมแผนรองรับ

“ส่วนเชื้อกลายพันธุ์ กำลังจับตามองกันอยู่ แต่เชื้อกลายพันธุ์ก็มีผลต่อวัคซีน แต่อยู่ที่ว่ากลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน แต่ประเทศไทยยังเป็นเชื้อตัวเดิม ดังนั้น เมื่อได้วัคซีนมาเมื่อไหร่ต้องรีบฉีด ก่อนที่เชื้อกลายพันธุ์จะเข้ามาในประเทศไทย” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

พญ.สุชาดา กล่าวถึงแผนการจัดการวัคซีนโควิด19 ว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิด 26 ล้านโดสได้ลงนามกับทางบริษัทแอสตราซิเนกา และระหว่างนี้ก็กำลังจัดหาเพิ่มเพื่อครอบคลุมประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งเรามีวัคซีนที่เป็นแคนดิเดตหลายตัว เช่น วัคซีนซิโนแวคจากจีน อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายการให้วัคซีนนั้น ต้องให้ประชาชนทุกคนตามความสมัครใจ แต่ด้วยช่วงแรกมีความต้องการวัคซีนมากทั้งทั่วโลก จึงช่วงแรกที่ได้มาต้องให้กลุ่มที่ต้องได้รับก่อน โดยแบ่งออกเป็นระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนจำกัด โดยต้องการลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และรักษาระบบุสุขภาพของประเทศ จนนำมาสู่ 4 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2. คนที่มีโรคประจำตัว คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 3.ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ4.เจ้าหน้าที่เกี่ยวขอ้งกับการควบคุมโรคโควิดที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น ก็จะครอบคลุมทั้งหมด ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโควิด19 เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อผู้ป่วยโควิด เช่น เวรเปล เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดหอผู้ป่วย เจ้าหน้าที่แผนกซักฟอกในโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่กักกัน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว(อสต.) ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด เป็นต้น ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลพิจารณาว่าบุคลากรกลุ่มไหนเสี่ยงกับโควิดอยู่ด่านหน้าก็เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่แค่ลิสต์นี้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด ไม่ใช่แค่ของสาธารณสุข แต่ยังรวมมหาดไทย ทหาร ตำรวจ ที่ปฏบัติงานควบคุมโรคชายแดน โดยการฉีดให้นั้น จะเป็นการให้กับพื้นที่ที่มีความรุนแรงที่มีการระบาดก่อน แต่อนาคตจะครอบคลุมทั้งหมด

กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงประเทศ โดยจะเป็นบุคลการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่นเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่โรงแรม มัคคุเทศก์ เจ้าหน้าที่แหล่งท่องเที่ยว และผุ้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น ลูกเรือ นักการทูต ผู้เดินทาง และกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนที่เพียงพอก็จะฉีดให้กับประชาชนทุกคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนระยะแรกที่จะนำมาใช้ คือ วัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งจริงๆมีบริษัทอื่นด้วย แต่ของแอสตราฯ มีการคอนเฟิร์มแล้ว โดยวัคซีนชนิดนี้จะฉีด 2 โดส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัคซีนได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันให้สามารถใช้ภายในประเทศภายในสภาวะฉุกเฉิน โดยได้รับการอนุมัติทะเบียนตำรับยาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อห้ามข้อควรระวังคือ ไม่ฉีดคนอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่หากอนาคตมีวัคซีนบริษัทอื่นเข้ามาและมีการทดลองหรือทะเบียนยาได้พิสูจน์ว่าฉีดได้อายุเท่าไหร่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ก็จะมีหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตรไม่ควรให้วัคซีนเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็จะมีใบรับรองการฉีดให้เช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมระบบรองรับเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เตรียมระบบในการเฝ้าระวังอาการหลังฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งระยะสั้น ระยะยาว มีการเฝ้าระวังในกลุ่มอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน แต่ขอย้ำว่า วัคซีนโควิด19 ทั่วโลกฉีดไปกว่า 100 ล้านโดสแล้ว

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิดเข้าระยะทดสอบในคน 91 ตัว และทดสอบระยะที่ 3 แล้วจำนวน 20 ตัว และมีใช้จริงแล้ว 8 ตัว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประเทศอื่นได้วัคซีนก่อนไทย เนื่องจากประเทศนั้นๆ ได้ร่วมลงทุนในการพัฒนาวัคซีน อย่างสหรัฐลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท เพื่อให้มีการวิจัยพัฒนา เมื่อได้วัคซีนมาเขาก็ต้องได้รับก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีน 4 แพลตฟอร์มที่ก้าวหน้าที่สุด ประกอบด้วย

แพลตฟอร์มแรก คือ วัคซีนเทคโนโลยี mRNA โดยข้อดีผลิตได้ง่าย เร็ว ปรับสูตรง่าย ขณะนี้ใช้ไปแล้วกว่า 40 ล้านโดส พบว่าปลอดภัยดี ยกเว้นแพ้นาโนพาร์ติเคิลรุนแรงได้ แต่แพ้อย่างไรปัจจุบันยังไม่พบการเสียชีวิต เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ถูกหุ้มโดยนาโนพาร์ติดเคิล ข้อด้อย คือ ต้องเก็บเย็นมากที่ติดลบ20/ติดลบ70องศา

แพลตฟอร์มสอง คือ วัคซีนเทคโนโลยีAdnovirus vector ข้อดี เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อธรรมชาติ อาจจะใช้เพียงเข็มเดียวได้ ผลิตได้ง่าย เร็วปลอดภัย ข้อด้อย อาจจะไม่ได้ผลดีในผู้ที่เคยติดเชื้อหวัดอะดิโนมาก่อน ไม่ควรใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และดีตรงอาจใช้เข็มเดียวได้ อย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อย่างไรก็ตาม การเลียนแบบการติดเชื้อเป็นการใช้ไวรัสอะดิโนก่อโรคหัวด มาดัดแปลงพันธุกรรมสอดใส่สารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ ของโควิด เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายเซลล์สร้างภุมิคุ้มกันจะสร้างภุมิต่อโปรตีนสไปค์

แพลตฟอร์มสาม คือ วัคซีนเทคโนโลยี Protein-based ข้อดี ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่แพง เคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อนอย่างดี ข้อด้อยต้องใช้สารกระตุ้นภูมิ adjuvant

แพลตฟอร์มสี่ คือ วัคซีนเทคโนโลยีชนิดเชื้อตาย Inactivated ข้อดี เคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อนอย่างดีมีการใช้กว่า 10 ล้านโดสในจีน แต่ข้อมูลไม่มากนัก ข้อด้อย ราคาแพงเพราะผลิตได้ช้า

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดด้วยการรับชมย้อนหลังได้ที่ www.pidst.or.th และwww.idthai.org โดยจะมีการนำคลิปย้อนหลังมาลงให้บุคลากรสาธารณสุขและทางการแพทย์ที่สนใจ ซึ่งจะลงภายใน 1-2 วันนับจากมีการเผยแพร่ออนไลน์