ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภาหารือกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบ พร้อมขึ้นทะเบียนอาสาสมัครทางการแพทย์ เตรียมพร้อมกรณีเหตุการณ์ชุมนุม

 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 พร้อมด้วย นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ร่วมกันแถลงข่าวจุดยืนแพทยสภาต่อเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีการชุมชุมเมือง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การออกมาชุมนุมของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็ถือว่ายังอยู่ในระบบของประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ไม่ให้มีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับสุขภาพของประชาชน หรือใครก็ตาม ดังนั้น อนุกรรมการบริหารแพทยสภา ขอแสดงจุดยืนดังนี้ 1.ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำ ที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยกับทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ 2.ขอให้ทุกให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์  ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล 

3.ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญ คือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด และ 4.ขอแสดงชื่นชมบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละ และมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ

“ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้เราต้องคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเขาจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร จะต้องเป็นกลางทางวิชาชีพ ไม่เลือกปฏิบัติ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม และเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดแค่ที่กรุงเทพฯ แต่มีการเกิดในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ดังนั้นต้องมีการคัดกรอง ลงทะเบียนให้ชัดเจน และมีการรับรองตราสัญลักษณ์การเป็นแพทย์อาสา อาสาสมัครสาธารณสุข คือใช้กากบาทสีเขียว จะไม่ใช้สีแดงเพราะเป็นสีของกาชาด ใช้ไม่ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว 

พล.อ.ต.อิทธพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อวางระบบให้ชัดเจน มีการเรียนรู้ขั้นตอนการปฐมพยาบาล การกู้ชีพ และการเชื่อมโยงระบบส่งต่อ แม้จะเป็นจิตอาสาก็ต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย เบื้องต้นได้มี หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งประเทศก็ต้องอยู่ภายใต้ร่มกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องไปพูดคุยและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องของการลงทะเบียนข้อมูลต่างๆ 

เมื่อถามว่าเมื่อตั้งตัวเป็นอาสาสมัครแล้ว ต้องปฏิบัติตามหลักสากล โดยแยกตัวออกออกจากจุดที่มีความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า แพทยสภาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ใครจะมีจุดยืนทางการเมืองอะไรก็ตามไม่ว่ากัน แต่เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ก็จะต้องความเป็นกลาง ดูแลทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนถ้าไม่มีการลงทะเบียนแล้วจัดทำตราสัญลักษณ์กากบาทสีเขียวขึ้นมาใช้เองนั้น เราก็ไม่อาจจะพูดได้ว่าเป็นการปลอมแปลงหรือไม่ แต่หลักการของการมีแพทยอาสา มีอาสาสมัครสาธารณสุขเราก็อยากให้เป็นคนที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้จริง การที่มีการรับรองก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจด้วย

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ระบบการดูแลการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะมีการวางระบบเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นจะมีทางศูนย์เอราวัณ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ดูแลร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานในพื้นที่ และการส่งต่ออย่างเป็นระบบ อยู่ในเซฟโซนป้องกันการปะทะ มีสัญลักษณ์ชัดเจน คือกากบาทสีเขียว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง