ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลทั้งตัวผู้ดื่มเองและบุคคลรอบข้าง โดยทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เช่น ปัญหาด้านสังคมเกิดการทะเลาะวิวาทหลังจากเกิดภาวะมึนเมา หรือ อุบัติเหตุ (เมาขณะขับรถ) ด้านเศรษฐกิจ เช่น ค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียผลิตภาพจากการทำงาน ค่าใช้จ่ายจากการฟ้องร้อง กระทั่งจนปัญหาสุขภาพที่ตามมาจากการดื่ม เช่น สุขภาพจิต โรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง ตลอดจนปัญหาอาชญากรรม

มาตรการควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพโดยการควบคุมให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ราคาแพงและหาซื้อยาก เช่น การเก็บภาษีสรรพสามิตทำให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันมาบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลบเลี่ยงภาษีหรือแอลกอฮอล์นอกระบบ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์นอกระบบภาษีของคนไทยซึ่งประกอบด้วย สุราเถื่อนที่ต้มกันเองในพื้นที่ และสุราต่างประเทศที่ลักลอบนำเข้าโดยไม่เสียภาษี โดยใช้ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560 พบว่า ชาวภาคเหนือมีอัตราการดื่มสุรานอกระบบภาษีสูงที่สุดที่ 24.7% รองลงมา คือ ภาคใต้ที่ 17.0% ส่วนภาคกลาง (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ดื่มสุรานอกระบบต่ำที่สุด 7.6% นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มวัยกลางคน (อายุ 46-60 ปี) และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเป็นกลุ่มที่มีอัตราการดื่มสุรานอกระบบภาษีสูงที่สุด

ผลการวิจัยยังพบเพิ่มเติมว่า การดื่มสุรานอกระบบภาษีนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ดื่มจะได้รับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม (ประกอบด้วย การเจ็บป่วย ความรุนแรงทางกาย ความรุนแรงทางวาจา และผลกระทบต่อรายได้และการทำงาน) มากกว่ากลุ่มนักดื่มที่ไม่ได้ดื่มสุรานอกระบบโดยความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นถึง 64% จากข้อมูลข้างต้นสุรานอกระบบภาษีจึงถือเป็นอีกหนี่งความท้าทายในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยทั้งในแง่ของการจัดเก็บรายได้และการควบคุมการบริโภค