ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลสำรวจ “ยกระดับ 4 บริการบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ประชาชนตอบรับ ระบุนโยบายมีประโยชน์ เพิ่มความสะดวกรับบริการ เผยอันดับการรับรู้นโยบายใหม่ “ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันที” ประชาชนรับรู้มากสุดร้อยละ 74.78 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” โดย สปสช. ได้พัฒนา 4 บริการใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดย 4 บริการดังกล่าว ได้แก่ 1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย นำร่อง กทม. และเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ 2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ 3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม พร้อมกันทั่วประเทศ และ 4. ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดได้เริ่มให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิแล้ว

ด้วยเป็นการจัดระบบบริการใหม่เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง    ที่ผ่านมา สปสช. ได้ทำการสำรวจการรับรู้และความเห็นของประชาชนต่อบริการตามนโยบายดังกล่าว โดยดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2563 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22-28 มกราคม 2564 ในรูปแบบ quick survey กระจายทุกพื้นที่ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 2,343 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นประชาชน 1,398 คน หรือร้อยละ 59.63 และผู้ให้บริการ 945 คน หรือร้อยละ 40.33 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการสรุปภาพรวมของการสำรวจการรับรู้และความเห็นทั้ง 2 ครั้ง เรื่องที่รับรู้มากที่สุด ได้แก่ ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ร้อยละ 74.78 รองลงมาคือโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ร้อยละ 65.98 ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย ร้อยละ 65.43 และ ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ร้อยละ 63.38 โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 96.6 เห็นว่าการยกระดับบัตรทองเป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ และร้อยละ 80.3 ระบุว่ามีความสะดวกในการเข้ารับบริการ มีเพียงร้อยละ 19.7 ที่ระบุว่าไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ ในจำนวนนี้ร้อยละ 2.6 ให้เหตุผลว่า เนื่องจากหน่วยบริการปฏิเสธให้บริการ ร้อยละ 5.39 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทราบนโยบาย และร้อยละ 11.71 ระบุว่าขั้นตอนยุ่งยาก ซึ่ง สปสช. จะนำไปพิจารณาและปรับปรุงต่อไป

นอกจากนี้ ในการสำรวจการรับรู้และความเห็นฯ ในครั้งนี้ได้เปิดให้ผู้ตอบแบบสอบถามร่วมเสนอแนะความเห็น โดยในส่วนของความเห็นต่อนโยบาย ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นนโยบายที่ดีและมีประโยชน์ ควรดำเนินการทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกสิทธิ ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ระบุควรสื่อสารให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการเข้าใจตรงกัน เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ มีรายละเอียดที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทั้งรายละเอียดขั้นตอนการเข้ารับบริการ ข้อจำกัด รายชื่อหน่วยบริการที่พร้อมให้บริการ และด้านระบบบริการ ควรพัฒนาระบบบริการให้เกิดความเท่าเทียม พัฒนาระบบข้อมูลของหน่วยบริการให้เชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน การบูรณาการโปรแกรม แอพพลิเคชั่น ให้เป็นระบบเดียว เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิก โรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกเขต และเพิ่มบุคลากรสาธารณสุขให้พอเพียง

“ภาพรวมจากผลสำรวจทั้ง 2 ครั้งนี้ สะท้อนว่าประชาชนได้ให้การตอบรับนโยบายยกระดับบริการบัตรทองด้วยดี มองว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ ทำให้ได้รับบริการที่สะดวกเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการ และข้อเสนอแนะต่างๆ สปสช. จะนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว