ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตรียมแผนการฉีดวัคซีนโควิด19 เดือน มี.ค.-พ.ค. จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด ขณะที่วัคซีนแอสตราฯ เข้ามาวันนี้(24 ก.พ.) หลังวัคซีนซิโนแวค เก็บคลังสินค้าดีเคเอสเอชทั้งหมด พร้อมส่งกรมวิทย์ตรวจสอบก่อนประเดิมฉีดเข็มแรก แต่ยังไม่กำหนดวันไหน ขอให้มั่นใจได้ฉีดแน่นอน

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่คลังสำรองวัคซีนโควิด 19 องค์การเภสัชกรรม (คลังศรีเพชร DKSH) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ถนนบางนา-ตราด กม. 19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) พร้อมด้วย Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการลำเลียงวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรกของบริษัทซิโนแวคจำนวน 2 แสนโดสเข้าสู่คลัง และระบบการจัดเก็บวัคซีนภายในห้องควบคุมอุณหภูมิมาตรฐาน โดยวัคซีนล็อตนี้ บรรจุในหลอดวัคซีน ใน 1 กล่องเล็ก มีวัคซีน 40 หลอด

 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้รับวัคซีนของบริษัทซิโนแวคล็อตแรกจำนวน 200,000 โดสแล้ว จะได้รับเพิ่มอีก 800,000 โดสในเดือนมีนาคม 2564 และอีก 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดเก็บ บรรจุ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น (Cold Chain) และกระจายภายใต้มาตรฐานสากล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้าไปตรวจสอบคุณภาพ ตามมาตรฐาน คาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะจัดส่งไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวม 18 จังหวัด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบการเก็บและการจัดส่งวัคซีนจะควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพของวัคซีน โดยวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวคได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน และขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

“ นอกจากนี้ จะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 ในเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 คาดว่าจะสามารถเปิดประเทศในปลายปี 2564 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และปกป้องสุขภาพประชาชนได้ และในบ่ายวันนี้(24 ก.พ.) วัคซีนแอสตราฯ ก็เข้ามาด้วยเช่นกันจำนวน 117,000 โดส ซึ่งจะเก็บที่คลังของดีเคเอสเอช เช่นกัน” นายอนุทิน กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : วัคซีนโควิดล็อตแรก ซิโนแวค ถึงไทยแล้ว!!!)

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับการฉีดในระยะแรกเมื่อวัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 มีแผนการฉีดในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย), เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, และเพชรบุรี สำหรับระยะที่ 2 เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 จะฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ในการยืนยันตัวตัวตนหลังได้รับวัคซีนครบแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนสำหรับใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศหรือในประเทศ ให้เป็นระบบดิจิทัลมากที่สุด รวมถึงให้เกิดการใช้งานเกี่ยวกับวัคซีนอื่นๆ ด้วยเพื่อให้เกิดความครอบคลุมการใช้งาน และรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับวัคซีน “CoronaVac” ของซิโนแวค คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีข้อแนะนำ ว่า วัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนแต่ละเข็มเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรระวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงกรณีการเข้ามาของวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกาอีกล็อตในวันนี้ (24 ก.พ.) ว่า เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปกติใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน แต่พยายามเร่งไม่น่าเกิน 3-5 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกจะเริ่มเมื่อไหร่ หรือจะเป็นช่วงวันที่ 27-28 ก.พ. นี้หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ขอให้กระบวนการตรวจสอบแล้วเสร็จจะแจ้งให้ทราบทันที

เมื่อถามถึงกรณีวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามาไทยเป็นการขนส่งมาจากที่ใด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เป็นโกลบอล เชน หรือเครือข่ายของทั่วโลก

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจคุณภาพของวัคซีนจากบริษัท astrazeneca มีวิธีการตรวจแตกต่างจากวัคซีนของซิโนแวคหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าโดยภาพรวมอาจจะใช้เวลา 3 วันไม่แตกต่างกัน จะดูเรื่องความปลอดภัยความเป็นกรดเป็นด่างสีของวัคซีนรวมถึงการปนเปื้อนของสารอื่นๆในส่วนนี้จะไม่มีการไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากวัคซีน 2 ชนิดนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน จึงมีความแตกต่างกันในขั้นตอนของการดูวัคซีนว่า ความแรงของวัคซีนสามารถกระตุ้นหรือสร้างภูมิคุ้มกันตามที่ได้มีการอ้างอิงที่ให้ไว้ในเอกสารที่แนบมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนแต่ละชนิดใช้เทคโนโลยีอะไรในการผลิตทั้งนี้วัคซีนเป็นเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีเก่าสามารถตรวจสอบได้ง่ายส่วนของ astrazeneca จะตรวจสอบยากขึ้นเล็กน้อยแต่ก็มีการศึกษาเอกสารหลักฐานข้อมูลที่ได้ยินมาก่อนหน้านี้เอาไว้แล้ว จึงมีความพร้อมที่จะตรวจสอบวัคซีนทั้งสองชนิด

ด้าน นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา เจนเนอรัลเมเนเจอร์ บริษัท DKSH กล่าวว่า ในส่วนที่ท่านรองนายกฯ เปิดเผยว่าวัคซีนของแอสตราฯ จะถูกส่งมาเก็บรักษาที่คลังแห่งนี้นั้น ขอยืนยันว่าเรามีความพร้อมในการจัดเก็บอยู่แล้ว เพราะเราเอง ก็เป็นคู่ค้าของ บริษัท astrazeneca อยู่แล้ว โดยสังเกตวัคซีนแห่งนี้มีพื้นที่สามารถจัดเก็บได้มากถึง 500 พาเลท แบ่งเป็นห้องๆ ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ และกล้องวงจรปิด เมื่อถูกส่งเข้ามาก็จะแยกเก็บกับวัคซีนของซิโนแวค

นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา