ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วม รพ.เอกชนแสดงเจตนารมณ์ขอนำเข้าวัคซีนโควิด19 ยืนยันไม่ปิดกั้น ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลในการกระจายวัคซีนไปยัง ปชช. ยังมีสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า ยื่นแสดงความจำนงต้องการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พร้อมผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับนโยบายการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยโรงพยาบาล(รพ.) เอกชน

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ สธ. ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ ผู้บริหารโรงพยาบาล(รพ.)เอกชน ถึงนโยบายการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยโรงพยาบาลภาคเอกชน ซึ่ง สธ. ได้เรียนไปยังผู้บริหาร รพ.เอกชนทุกท่านที่มีเจตนารมณ์ชัดเจน ว่า ยินดีสนับสนุนให้ รพ.ภาคเอกชน นำเข้าวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนและขึ้นทะเบียนรพ. เพื่อนำมาฉีดสำหรับประชาชนที่ยินดีไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อความสะดวกภายใน รพ.เอกชน ส่วนขั้นตอนการนำเข้า ยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ออกเอกสารต่างๆ เพื่อรับรองว่าวัคซีนมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน

“เป็นคำตอบที่ยืนยันว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติช่วงเช้า เราแจ้งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการรับทราบด้วย ถือว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการทำให้การกระจายวัคซีนไปยังประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า ยื่นแสดงความจำนงว่า ต้องการฉีดวัคซีนโควิดให้แรงงานต่างด้าว โดยพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ สธ. พร้อมอำนวยความสะดวก และต้องขอขอบคุณที่ท่านได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และทำให้ทุกคนปลอดภัย” นายอนุทิน กล่าว

นพ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้มี รพ.เอกชน หลายแห่ง มีความสนใจบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยยื่นขอจัดตั้งเป็นบริษัทยากับอย. เพื่อขอนำเข้ายาและชีววัตถุ พร้อมติดต่อบริษัทผลิตวัคซีนต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อนำเอกสารมายื่นให้อย.รับรอง แล้วส่งมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิต คาดว่าขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่าที่คุยไม่เกิน 30 วันจะแล้วเสร็จ

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้มี 4 บริษัทยาที่มายื่นขึ้นทะเบียนวัคซีน ซึ่งผ่านการรับรองและมีวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทแอสตราเซเนกา และบริษัทซิโนแวค ส่วนอีก 2 บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารขึ้นทะเบียน คือ วัคซีนจากจอห์นสันแอนด์จอห์น ตัวแทนในประเทศไทย นำเข้าโดยบริษัทแจนเซน และบริษัทบารัค ไบโอเทค นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด