ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สอบถ้อยคำพยานกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษาชายไต้หวัน  ด้านผู้ช่วยโฆษกฯ เผยข้อมูลสอบถ้อยคำเปิดเผยยาก เพราะเกี่ยวข้องกฎหมาย ข้อมูลผู้ป่วย ล่าสุดเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเดือนนี้

 

ความคืบหน้ากรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้าตรวจสอบและสอบถ้อยคำเจ้าหน้าที่ รพ.วิภาราม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากกระแสข่าวปฏิเสธการรักษาหนุ่มนักท่องเที่ยวขาวไต้หวัน ที่ประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ โดยให้ไปรักษา รพ.รัฐที่อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร และเสียชีวิตระหว่างทาง

 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่าที่ร้อยตรี การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ทีมของ สพฉ.และ สบส.ได้ลงไปสอบถ้อยคำสัมภาษณ์พยาน ซึ่งหลักๆ เราพิจารณาตามข้อกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มาตรา 28 และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 36 ซึ่งทั้ง 2 กฎหมายนี้จะพูดคล้ายกัน หลักการคือสถานพยาบาลจะต้องมีการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มความสามารถก่อน โดยไม่เอาเรื่องของสิทธิ เรื่องของเงินมาเกี่ยวข้อง นี่เป็นธงของกฎหมาย ดังนั้น ทีมจึงลงไปสอบสวนข้อมูลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายตรงนี้หรือไม่ เพราะเราเห็นแค่เพียงจากคลิป เราก็ต้องไปดูว่าเรื่องราวในห้องฉุกเฉินเป็นอย่างไรถึงไม่ได้รับ

 

"อย่างแรกคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินที่นำไปส่งห้องฉุกเฉินในวันที่เกิดเหตุนั้น อาการเป็นอาการในเคสที่ รพ.จะต้องปฏิเสธไม่ได้หรือไม่ ต้องรับเท่านั้นหรือไม่ ข้อมูลก็จะมาจากศูนย์เอราวัณที่เป็นผู้ไปส่งเคส สองคือไปดูว่าเวลานั้น เราทราบจากสื่อว่า รพ.ไม่ได้รับคนไข้ แต่ที่ไม่รับมีเหตุผลอะไร ไม่รับด้วยเงื่อนไขอะไร เช่น มีความจำเป็นอื่น เช่น รพ.เตียงเต็มจริงๆ ผู้ป่วยเกินศักยภาพในการรักษาหรือไม่ แต่หากบอกไม่รับเพราะไม่มีเงิน ก็จะเป็นเงื่อนไขในความผิด เมื่อวานทีมสืบสวนจึงลงไปดูว่ามีเหตุผลอะไรหรือไม่ ที่ รพ.ไม่รับ ก็เป็นการไปสอบถาม รพ.เอกชนที่เกี่ยวข้อง" ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าวว่า ข้อมูลการสอบถ้อยคำตรงนี้อาจจะยังเปิดเผยได้ยาก เพราะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเชิงกฎหมาย คดี ข้อมูลผู้ป่วยด้วย จึงอาจเปิดเผยได้ไม่ครบทุกอย่าง ส่วนการพิจารณาและประกาศว่ามีความผิดหรือไม่ผิด และหากผิดโทษคืออะไร คนที่จะดำเนินการคือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่วน สพฉ.เองจะนำข้อมูลทั้งหมด ผลการสอบสวน หลักฐานทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ด กพฉ.) ในการพิจารณาว่า จากข้อมูลที่ให้มานั้นผิดหรือไม่

 

เมื่อถามว่าทาง รพ.ได้ให้เหตุผลหรือไม่ว่า ที่ไม่รับคนไข้รายนี้เนื่องจากเหตุผลใด  ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าววว่า จริงๆ มีเหตุผลหลายอย่างที่จะไม่รับ เหตุผลของทาง รพ.อาจเป็นเรื่องข้อจำกัดการรับผู้ป่วยเพิ่ม หรือเตียงเต็มเกินศักยภาพการรักษา จริงๆ แล้วก่อนที่กู้ภัยหรือรถแอมบูแลนซ์จะเอาผู้ป่วยไปส่งห้องฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณจะมีการโทรไปถามอยู่แล้วว่า รพ.รับเคสนี้ได้ไหม เกิดเหตุใกล้ๆ ซึ่งในข่าว รพ.ก็ให้ข่าวอยู่แล้วว่า ตอบศูนย์เอราวัณไปแล้วว่ารับไม่ได้ แต่สถานที่เกิดเหตุกับ รพ.ค่อนข้างใกล้ รถกู้ชีพเลยตัดสินใจเอาไปอยู่ที่หน้าอีอาร์หรือฉุกเฉินก่อน ซึ่งการอยู่ที่หน้าอีอาร์แล้วกับการโทรถามว่ารับไม่รับ จริงๆ เรื่องเดียวกัน แต่บริบทต่างกัน

 

ถามย้ำว่าที่ รพ.ไม่รับคือให้เหตุผลว่าศักยภาพเตียงไม่สามารถรับได้ใช่หรือไม่  ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าวว่า ใช่ ซึ่งเขาให้เหตุผลนี้มา แต่คณะกรรมการฯ จะต้องไปดูองค์ประกอบอื่นอีกว่า เข้าข่ายที่จะยกเว้นความผิดนี้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องให้ทางคณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเราจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ กันทุกเดือน แต่เรื่องนี้เป็นวาระเรื่องด่วน ก็คาดว่าจะเข้าภายในเดือนนี้ ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร จะมีการแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะอีกครั้ง