ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สาธารณสุข ยันช่วงไฮซีซันมี Sky Doctor 20 แห่งทั่วประเทศดูแลครอบครอบความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉิน ลั่นนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ หากป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาเท่าเทียม ด้าน สพฉ.ส่งข้อมูลปมรพ.เอกชนปฏิเสธรักษาให้บอร์ดเคาะสัปดาห์หน้า หากผิดจริงโทษปรับ 1 แสนบาท

 

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม  ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ  นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี รพ.เอกชน ไม่รับรักษานักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน ประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนหมดสติ สุดท้ายเสียชีวิตระหว่างนำส่ง รพ.รัฐที่อยู่ห่างออกไป ที่กระทบกับเรื่องความมั่นใจในการมาท่องเที่ยวประเทศ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของไทยแล้ว ภายหลังเปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประจำปี 2566 ว่า   ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบกฎหมายของไทย ให้การคุ้มครองอยู่แล้วในเรื่องของนักท่องเที่ยว รัฐบาลเพิ่งแจ้งไปยังกรมประกันภัยว่า นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยนั้น จะมีแพคเกจเรื่องของประกัน ทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วย และการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ แต่กรณีรายไต้หวันนี้ ยังไม่แน่ใจว่า เขาเป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นผู้ที่มาอยู่ในเมืองไทยนานแล้ว อาจเลยเกินกว่าการท่องเที่ยว แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ ช่วงหลังเราจะมีระบบประกันภัยไว้ให้อยู่แล้ว

 

"เมื่อเกิดเหตุแล้ว รัฐบาลและ สธ.จะไปดูจุดอ่อนมีปัญหาตรงไหน จะได้ไปแก้ไข เพื่อให้นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้อง จะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น ยิ่งเรื่องฉุกเฉินต้องมีความเท่าเทียมทั้งหมด" นายสันติกล่าว

 

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ลงไปสอบพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึง รพ.เอกชน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปมี 2 ส่วน คือ ส่วนของ สบส. ก็จะนำข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสถานพยาบาล และส่วนของ สพฉ.จะเอาเข้าคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ในสัปดาห์หน้า หลังจากที่มีการคุยกันแล้วจะดูว่า กพฉ.มีมติอย่างไร ก็จะดำเนินการตามมติ ซึ่งภาพรวมหากพบว่าสอบแล้วมีข้อที่ผิดจริง ทางฝั่นของการแพทย์ฉุกเฉินจะดำเนินการโทษปรับประมาณ 1 แสนบาท ส่วนของ สบส.ก็ขึ้นกับว่ากฎหมายจะกำหนดไว้อย่างไร

 

ถามถึงกรณี รพ.เอกชนอ้างว่าเตียงเต็ม ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า ตอนนี้ภาพรวมปัญหาของเราคือ การแจ้งเหตุของประชาชน และทีมเราไปถึงช้า ซึ่งในการประชุมวันนี้เราก็เน้นเรื่องของการเข้าถึงที่เกิดเหตุในเวลา 8 นาที แต่ส่วนหนึ่งก็พบปัญหาเหมือนกัน เมื่อรับผู้ป่วยเข้า รพ. ก็จะเจออีกปัญหา คือ รพ.อาจจะใช้คำว่าไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ อาจจะเหตุผลเตียงเต็ม เกินศักยภาพ หรือเหตุผลอื่น ตรงนี้ต้องมาดูตามข้อเท็จจริงว่า ถ้าเป็นประเด็นข้อจำกัดของ รพ.เองที่เกินศักยภาพหรือไม่มีทรัพยากร ก็จะต้องหาวิธีการแก้ไขต่อไป แต่หากเกิดจากการปฏิเสธจาก รพ. อาจจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

 

"ตามกฎหมายจะต้องรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่การรับคือห้ามถามสิทธิ ห้ามถามว่ามีเงินไหม เพราะตอนนี้มีกลไกการจ่ายเงินของรัฐบาลช่วยสนับสนุนอยู่ อย่าง รพ.รัฐก็ 100% ส่วน รพ.เอกชน ก็มีเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) มาช่วยให้ประชาชนที่อาจจะพูดไม่ได้ หมดสติไม่รู้สึกตัว จะได้ไม่ต้องมานั่งตอบว่ามีเงินไม่มีเงิน ตอนนี้รัฐบาลประกันให้" ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

 

ถามถึงการรับมือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของไทยที่มีการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก และต้องชี้แจงกับทางต่างประเทศ โดยเฉพาะไต้หวันหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า จริงๆ ตอนนี้เราทำงานกับกลุ่มต่างประเทศ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตำรวจท่องเที่ยว สถานทูตไต้หวัน มีการพูดคุยเรื่องนี้เพื่อให้ข้อเท็จจริง ว่าไทยไม่ได้ละทิ้งนักท่องเที่ยวไม่ได้ปล่อยให้นักท่องเที่ยวมาเจอสภาพนี้ 

นายสันติกล่าวว่า ช่วงไฮซีซันที่ใกล้ปีใหม่นี้ วันนี้เราจึงมาจัดงานผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เรามาเปิดประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อยืนยันต่อนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในทุกพื้นที่ เรามีการเตรียมความพร้อมรองรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทางทะเล หรือโรคประจำตัว เรามีหน่วยฉุกเฉินทางอากาศครบทั้ง 13 เขตการแพทย์ฉุกเฉินของไทย และยังมีพื้นที่กันดารอื่นๆ อีก 7 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง เราจึงมาเปิดประชุมถึงความพร้อมการดูแลนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ คนไทยที่เที่ยวในไทย เรามี 20 หน่วยฉุกเฉินครอบคลุมทั่วประเทศในการดูแล สธ.และรัฐบาลตั้งใจดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ระยะที่เราเพิ่งพ้นโควิดมา เราจึงตั้งใจดูแลสุขภาพนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

 

"การแพทย์ฉุกเฉินมีการคิดค้นวิชาการและอัปเกรดให้การแพทย์ฉุกเฉินมีความรวดเร็ว ว่องไว เซฟชีวิตประชาชนมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรให้รักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว มีนวัตกรรมที่ร่วมกับกองทัพอากาศ กองทัพบก และตำรวจ ในการใช้เครื่องบินมาช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งอุบัติเหตุทางถนน ไฮเวย์ ชนบท เพื่อรักษาความเท่าเทียมการรักษาให้มีประสิทธิภาพ" นายสันติกล่าว