ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเผยผลศึกษาหลังฉีดวัคซีนโควิดแอสตราฯ เข็มแรก 22 วัน พบประสิทธิผล 76% ยาวนาน 3 สัปดาห์ และจะสูงขึ้นตามการเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และ2 หากห่างกัน 3 เดือนประสิทธิผลสูงเป็น 81.39% ขณะที่ไทยล่าสุดฉีดวัคซีนแล้ว 50,388 ราย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด19 ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้แก่ทางนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยอาจารย์แพทย์ โดยวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาแล้วว่า ปลอดภัย ทั้งนี้ ข้อมูลของวัคซีนแอสตราฯ หลังจากมีการศึกษาทางคลินิก การวิจัย และมีการขออนุญาตใช้ภาวะฉุกเฉินในหลายประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ยอมรับ

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า โดยเบื้องต้นในเรื่องความปลอดภัยได้รับการยืนยันว่า ผู้รับวัคซีนสามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ได้ดี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยจากโรคโควิด โดยหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 22 วันจะมีประสิทธิผล 76% ยาวนานอย่างน้อย 90 วัน แม้แต่เข็มแรกผ่านไป 3 สัปดาห์ก็มีประสิทธิผลป้องกันการป่วยได้แล้ว และจะมีประสิทธิผลสูงขึ้นตามการเว้นระยะระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 โดยห่างกันประมาณ 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือประมาณ 3 เดือน จะมีประสิทธิผลสูงเป็น 81.39% และยังพบผลการทดลองทางคลินิกหรือการวิจัยในมนุษย์ ยืนยันว่าป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ป้องกันอาการป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. และเสียชีวิตได้ถึง 100% หมายถึงป้องกันการป่วยหนักจนเสียชีวิตได้สูงถึง 100 % กล่าวคือ แม้แต่เข็มแรกก็ได้ผลแล้ว 

นอกจากนี้ ยังติดตามเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจขึ้น เช่น ในอังกฤษ ฉีดในผู้สูงอายุเกิน 80 ปีขึ้น ยังลดอัตราการเสี่ยงการป่วยที่ต้องเข้ารพ.ถึง 80% ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้ มาจากที่บริษัทแอสตราเซเนกา เลือกเอง ซึ่งในวันนี้(16 มี.ค.) ทางแอสตราฯ ยังมองว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกวันนี้เป็นความร่วมมือที่ดี และไม่ได้หวังกำไร แต่เพื่อให้มีการฉีดเพื่อป้องกันโรคให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรายงานสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ในส่วนผู้ที่รับวัคซีนจำนวน 50,388 ราย แยกเป็นบุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข รวมอสม. 29,634 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 10,281 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 2,640 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 7,833 ราย ส่วนผู้มีอาการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับ “วัคซีนโควิด19” จำนวน 4,595 ราย ทุกรายอาการไม่รุนแรง แยกเป็น ปวดเมื่อยเนื้อตัว 19 % คลื่นไส้ 14% ปวดศีรษะ 12% อักเสบบริเวณที่ฉีด 10 % เหนื่อย 10 % อาเจียน 7 % ไข้ 8% ท้องเสีย 6 % ผื่น 5 % กล้ามเนื้ออ่อนแรง 3 % และอื่นๆ 6 %