ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯเผย ตรวจแลบ “กุ้ง” จากตลาดกลางกุ้ง ปลอดเชื้อโควิด19 แต่ขอปรุงสุก ลั่นคนฉีดวัคซีนกินได้ คืบหน้าวัคซีนซิโนแวคล็อตสองเข้าไทย 8 แสนโดส ขณะที่ล็อตต่อไปเข้าอีก เม.ย. และอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มอีก 3 ล้านโดส

 

วันที่ 19 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 รอบใหม่ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนมาก และทำให้เกิดสะเก็ดไฟ หรือผู้คนที่ไปตลาดไปทำกิจกรรม เกิดติดเชื้อแล้วกระจายไปตามที่ต่างๆ ขณะนี้ หลังมีการควบคุมป้องกันโรคสถานการณ์ผ่านมา 2-3 เดือนสามารถกลับมาเปิดตลาดได้อีกครั้งแล้ว ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่พบว่ายังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ไว้วางใจในการไปใช้งานที่ตลาด ทำให้มีผู้ใช้งานประมาณ 50- 60% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตลาดกลางกุ้งเป็นพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัย ผู้ที่ติดเชื้อฯ ก็มีการแยกกัก อีกทั้งยังมีบางส่วนมีภูมิคุ้มกันแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงก็ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับพ่อค้า แม่ค้าจำนวนมาก เรียกได้ว่าพื้นที่นั้นค่อนข้างปลอดภัยในการที่จะเข้าไปใช้บริการ

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ยังมีผู้ตั้งคำถามว่ากุ้งที่จำหน่ายที่ตลาดกลางกุ้งนั้นปลอดภัยหรือไม่ จะมีการปนเปื้อนของเชื้อโควิดหรือไม่ ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาคร ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 5 ได้ทำการสุ่มตัวอย่างกุ้ง 5 แพ จากทั้งหมดที่วางแผนไว้ 8 แพ จำนวน 9 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุ้งขาว 5 ตัวอย่าง และกุ้งก้ามกราม 4 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อโควิดแต่อย่างใด ทั้งนี้เรามีแผนการสุ่มตรวจเป็นระยะเพื่อให้เห็นว่ามีความปลอดภัยแค่ไหน

“ดังนั้นขณะนี้สรุปได้ว่าการไปซื้อขายกุ้ง เพื่อประกอบอาหารนั้น มีความปลอดภัยไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อโควิด19 อย่างไรก็ตามหลักการพื้นฐานอย่างจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุก เพราะในตัวกุ้งอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อยู่ด้วย การกินอาหารปรุงสุกจึงจะทำให้เรามั่นใจว่าไม่ติดเชื้อต่างๆ รวมถึงเชื้อโควิด 19 ด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด19จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะอาหารทะเล นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการฉีดวัคซีนโควิด19 ในประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้มีอาการข้างเคียงรุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามใครที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้หรือแพ้อาหารทะเลจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจจะมีอาการแพ้ส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีนได้ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ไม่เกี่ยวว่าฉีดวัคซีน ว่าจะทำให้เกิดการแพ้กุ้งหรือแพ้อาหารทะเลมากขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายเข้ามารับวัคซีน โดยไม่ต้องกังวล เพราะเรามีระบบรายงานผล ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดความคลอบคลุม และกว่ากว่าภูมิจะขึ้นจนสามารถป้องกันโรคได้ระดับหนึ่งนั้นอาจจะต้องใช้เวลา

“ในวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) วัคซีนจากซิโนแวคล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดสจะขึ้นเครื่องมาถึงประเทศไทย ล็อตต่อไป 1 ล้านโดสจะเข้ามาเดือน เม.ย. และขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาจากซิโนแวคเพิ่มอีก 3 ล้านโดส ขณะที่เดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านรถก็จะทยอยออกมา และในที่สุดประเทศไทยจะได้รับวัคซีนครอบคลุมในจำนวนไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว