ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หน่วยงานหลักขับเคลื่อนการแพทย์จีโนมิกส์ภายใต้โมเดล BCG สาขายาและวัคซีน สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา  มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งที่ 3/2564 มี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ในวาระสำคัญการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ณ ห้องประชุมสุปัญญา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอประเด็นการแพทย์จีโนมิกส์ภายใต้โมเดล BCG สาขายาและวัคซีน โดยตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเมื่อ 19 ม.ค. 2564 มีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ประชากร พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานในทุกระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG แยกเป็นสาขาต่างๆ 10 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตร สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ สาขาเครื่องมือแพทย์ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ สาขายาและวัคซีน สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน สาขาอาหาร สาขานวัตกรรม และสาขากฎหมาย โดยสาขายาและวัคซีนมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนสาขา มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานวิชาการร่วมดำเนินการในด้านการแพทย์จีโนมิกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขายาและวัคซีน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการผลิต บนแนวคิดการยกระดับบริการการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการให้บริการอย่างทั่วถึงระดับประเทศ โดย สวรส.ได้รับมอบหมายเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 นั้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ดังกล่าว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนสำคัญตามแผนปฏิบัติการฯ ในระยะแรก สวรส. ได้มีการผลักดันให้การตรวจยีนแพ้ยาครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว และขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Whole Genome Sequencing Center) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตลอดจนยังมีแผนที่จะลงนามความร่วมมือกับ Genomics England เพื่อพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ การประชุมมีการนำเสนอผลวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการวัด วิเคราะห์ และปรับปรุงผลการดำเนินการของระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิและการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยของ สวรส. ที่ต้องการเน้นการใช้ความรู้ในการปรับปรุงนโยบาย ทั้งนี้งานวิจัยได้พัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิผลของการดูแลสุขภาพ ที่แตกต่างจากตัวชี้วัดเดิมคือ การกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการให้การดูแลประชาชนแต่ละคน
ที่ควรได้รับตามวัยหรือโรคประจำตัว เช่น การตรวจน้ำตาล ตรวจตา ไต เท้า ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องการการส่งเสริมและป้องกันโรค ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่มีสุขภาพดี กลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่มี
โรคเรื้อรัง กลุ่มพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้าน-ติดเตียง) กลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายบนมิติของภาพรวมของการให้บริการ ประสบการณ์ผู้ป่วย และคุณค่าของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ

โดยสามารถนำกรอบแนวคิดไปพัฒนาเพิ่มเติมตามนโยบายที่จะมุ่งเน้น ทั้งนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายของงานวิจัย เสนอให้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยบริการ สปสช. สสส. สรพ. นำนิยามเชิงปฏิบัติการ กรอบแนวคิด องค์ประกอบ และมุมมองในการวัดผลการดำเนินการของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิไปทบทวนและปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย และแนวทางของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิต่อไป เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการทางสุขภาพของประชาชนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และนำตัวชี้วัดอย่างน้อย 4 ตัวไปใช้ ได้แก่ 1) จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ในระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิต่อประชากร 10,000 คน 2) ดัชนีภาวะความเจ็บป่วยด้วย
โรคเรื้อรัง 3) ดัชนีการยอมรับที่ผู้ป่วยมีให้กับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ 4) ดัชนีคุณค่าของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิในภาพรวมของหน่วยบริการ ซึ่งผลวิจัยสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบติดตามประเมินผลระบบบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้   ประธานคณะกรรมการฯ ได้มอบให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขประสานเพื่อนำผลงานวิจัยไปประโยชน์ในการกำหนดตัวชี้วัดระบบบริการปฐมภูมิต่อไป