ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เปิดเวทีวิชาการ หัวข้อ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัว ล้อมรั้วให้ปลอดภัย” เสนอให้มีกฎหมายใช้กัญชาห้ามขับรถ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีวิชาการ หัวข้อ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัว ล้อมรั้วให้ปลอดภัย” โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า หลังจากกฎหมายปลดล็อคส่วนของกัญชาและกัญชงออกมา อาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมา ทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจทำให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นโทษที่ยังมีอยู่ของสารโดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา ซึ่งส่วนนี้ยังถือเป็นยาเสพติดอยู่ด้วย การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาต้องระวังเรื่องอายุของคนรับประทาน และปริมาณการรับประทาน ผู้ปกครองต้องพูดคุยความรู้พื้นฐาน ให้ระวังเหมือนที่คอยเตือนว่าไม่ควรให้เด็กดื่มกาแฟ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขต้องรอบคอบในการออกกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"สิ่งที่ต้องระวังมากคือการขับขี่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายเรื่องการตรวจ และเทคโนโลยีการตรวจจับ ดังนั้นต้องระมัดระวังมากๆ เรื่องการขับขี่และเกิดอุบัติเหตุ หากบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเลี่ยงการขับรถ และการใช้เครื่องจักรต่างๆ ผู้ประกอบการต้องซื้อสัตย์ด้วยการใช้กัญชาจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย และบอกข้อมูลต่อผู้บริโภคที่ชัดเจน" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผอ.ด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า จากการสำรวจล่าสุด พบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดจากกัญชาพบมากที่สุด และมีอาการทางจิตรุนแรงพอสมควร เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น จากการให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ พบอัตราผู้ป่วยจิตเวชจากการเสพกัญชาเพิ่มมากขึ้น จากเมื่อก่อน 90% ที่เข้ารักษาคือกลุ่มผู้เสพยาบ้า หรือสารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท แต่ปี 2563 พบว่าจากการเสพกัญชา 15%

ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2564 พบที่ 28% ถือว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอาการที่พบคือหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ได้ยินว่าจะมีคนมาทำร้าย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยจิตเภท ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยป่วยมาก่อน แต่หลังเสพกัญชาแล้วพบอาการป่วยจิตเภท ซึ่งเมื่อสอบประวัติพบว่ามีคนในครอบครัวป่วยโรคทางจิตเวชมาก่อน ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่ากัญชาเข้าไปกระตุ้นกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ และต้องเฝ้าระวังการใช้ในกลุ่มเด็กเพราะสมองเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะสมองส่วนคิดและตัดสินใจ อีกทั้งการใช้ในคนอายุน้อยเสี่ยงเสพติดมากกว่าคนที่อายุมาก และเสี่ยงที่จะไปใช้ยาเสพติดชนิดรุนแรงมากขึ้นด้วย

“ประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ แต่กลับพบว่ากัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียลและแหล่งที่ผู้เสพรู้เองว่าจะหาได้อย่างไร แม้รัฐบาลจะเร่งจับกุมก็ตาม ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้คนหันมาติดยาเสพติดได้ยาก คือ การสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ครอบครัวและสถานศึกษา หากมีความเข้มแข็งจะเข้าสู่วงจรนี้ได้ยาก ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนของกัญชามาใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น คนที่ฟังข่าวอาจจะเข้าข้างตัวเองว่าสามารถสูบได้เพื่อสันทนาการ” นพ.ล่ำซำ กล่าว และ ว่า ทั้งนี้ เสนอให้มีกฎหมายใช้กัญชาห้ามขับรถ

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ขณะนี้กระแสการกินกัญชาและนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น จึงอยากทำความเข้าใจว่า การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่ให้อนุญาตมีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่ได้รู้สึกถึงความเคลิ้มเคลิ้ม หรือความสุขอย่างที่คิด จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นรับประทานในปริมาณมากเกินไป ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่าร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน

"สิ่งที่ต้องระวังคือกลุ่มเปาะบาง เช่น เยาวชนและผู้ที่มีโรคประจำตัว หากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ส่วนการสูบกัญชาแน่นอนว่ากฏหมายยังไม่ได้อนุญาต แต่ต้องยอมรับว่ามีการสูบมานานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งการสูบออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่หากสูบผิดวิธีอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ ก่อนหน้านี้มีการศึกษาที่แคลิฟอเนียในปี 2017 พบเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้รับกัญชาโดยไม่ตั้งใจ พบว่า มีฤทธิ์เป็นพิษหลายพันคน โดยเจอในเรซิ่น คุกกี้ บราวนี่ บางคนได้จากควันมือ 2 ทำให้มีอาการมึนเมาต้องเข้าห้องฉุกเฉิน อาการที่พบมากสุดคือเนือยๆ อ่อนแรง เดินเซ ใจสั่น ม่านตาขยาย ดังนั้นต้องระวัง เพราะบางครั้งเมื่อเราเปิดกว้าง แล้วผู้ใหญ่จะใช้ต้องระวัง เด็กอาจจะคิดว่าเป็นขนม" รศ.พญ.รัศมน กล่าว