ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” ย้ำหากต้องการยุติโรคโควิด ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลกอย่างน้อย 70% หรือ 5 พันล้านคน ขณะที่ปัจจุบันฉีดแล้วทั่วโลก 650 ล้านโดส อัตราดังกล่าวต้องใช้เวลา 2 ปีจะคุมโรคนี้ได้ จึงต้องเร่งฉีดให้มากขึ้น 2 เท่า ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีถึงเป้าหมาย ส่วนวัคซีนเด็กอาจวิจัยและผลิตออกมาสิ้นปีนี้

เมื่อเวลา 15.00น. วันที่ 5 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ว่าขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษ แพร่กระจายได้เร็วและง่าย เทียบกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด ยังไม่ทันต่อการระบาด ทำให้เห็นว่าช่วงนี้ผู้ป่วยต่อวันสูงขึ้น หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สำหรับประเทศไทยพบว่า การระบาดระลอกใหม่ ในช่วงนี้ เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในสถานบันเทิงและเรือนจำ เราจะทำให้โรคสงบได้ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปัจจุบันเรามีประชากรทั่วโลก 7,000 ล้านคน

“หากต้องการยุติโรคได้ ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกให้มีภูมิคุ้มกัน อย่างน้อยร้อยละ 70 หรือ จำนวน 5 ,000 ล้านคน หรือต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านโดส จากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลก ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 เม.ย. พบว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั่วโลก 650 ล้านโดสเท่านั้น หรือ ร้อยละ 6.5 ของประชากรโลก คิดเป็น วันละ 15 ล้านโดส อัตราดังกล่าวต้องใช้เวลาฉีด 2 ปี ถึงจะคุมโรคนี้้ได้ ดังนั้น เราต้องเร่งฉีดให้มากขึ้น 2 เท่า หรือ ให้ได้วันละ 30 ล้านโดส ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงสุดคือ อิสราเอล รองลงมาคือ อังกฤษ พบว่า ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่ลดลงมาก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ มีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ซึ่งฉีดๆ หยุดๆ เพราะกลัวอาการข้างเคียง จะพบว่า ฝรั่งเศสเกิดการระบาดระลอกใหม่ มีอัตราการตายสูง และต้องประกาศล็อคดาวน์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ข้อดีของการฉีดวัคซีนมีมาก จึงอยากเชิญชวนคนไทย เมื่อถึงคิวรับวัคซีน ก็อยากให้มารับวัคซีนโดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้เปิดประเทศให้เร็วและปลอดภัยที่สุด

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีน กำลังวิจัยและผลิตวัคซีนสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา คาดว่าภายในสิ้นปีนี้เราจะมีวัคซีนสำหรับเด็กออกมา ส่วนอาการแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น ประเทศอังกฤษ ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา ไปแล้ว 17 ล้านโดส มีผู้ป่วยเกิดการลิ่มเลือด 20 คน เสียชีวิต 7 คน เทียบอัตราการอุบัติของโรค เท่ากับ 1 ใน 5 แสนโดส เมื่อเทียบกับประโยชน์คือ ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตาย ตนก็เห็นว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การเกิดลิ่มเลือดในยุโรป พบว่า เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเกิดในคนที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี เกิดในคนวัยเจริญพันธุ์ที่มีฮอร์โมนสูง เช่น คนท้อง คนกินยาคุมกำเนิด ซึ่งกำลังรอการพิสูจน์ หากมีข้อเกี่ยวข้องว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงเราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้