ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ย้ำสิทธิกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดฟรีทั้งรพ.รัฐ-เอกชน เผยไม่เกี่ยวค่าใช้จ่าย เพราะก่อนออกประกาศหารือร่วมสมาคมรพ.เอกชนยินดีพร้อมให้ความร่วมมือ ขณะที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยัน น้ำยาตรวจไม่ขาดแคลน!

จากกรณีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งต่างพร้อมใจกันประชาสัมพันธ์ “งด” ให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยโรงพยาบาลเอกชนได้ให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า โรงพยาบาลไม่พร้อม น้ำยาตรวจมีไม่เพียงพอ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประกาศดังกล่าวมีขึ้นภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แจ้งสิทธิแก่ “ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกคน” สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนทุกแห่งฟรี!

ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันที่ 9 เม.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เข้าใจว่าน่าจะเป็นการบริหารจัดการในช่วงแรก แต่นับตั้งแต่วันนี้(9 เม.ย.) เชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนต่างๆจะพร้อมเพรียงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็ยินดีพร้อมให้ความร่วมมือ เนื่องจากการตรวจหาเชื้อโควิดในกับประชาชนคนไทยทุกคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณค่าตรวจนั้น ได้มีการหารือร่วมกันทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็เห็นด้วย ซึ่งสามารถคีย์ข้อมูลการเบิกจ่ายมาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเบิกจ่ายค่าตรวจโควิดเป็นค่าใช้จ่ายเกณฑ์กลางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ใช่ การเบิกจ่ายเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยค่าตรวจ 1,600 บาท ค่าบริหารจัดการ ค่าคนเก็บ รวมแล้วประมาณ 2,300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนรับทราบและยินดีให้ความร่วมมือ และเข้าใจว่ากรณีมีข่าวก่อนหน้านี้ไม่น่าใช่เกี่ยวกับเรื่องนี้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

เมื่อถามว่ากลุ่มเสี่ยงที่สามารถไปรับการตรวจโควิดฟรีในรพ.รัฐและเอกชน คือไม่มีอาการก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เราใช้คำนิยามกลุ่มเสี่ยงตามกรมควบคุมโรค แต่ได้เพิ่มกรณีสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 หรือไปในสถานที่มีการระบาดมา ไม่มีอาการป่วย แต่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปรับการตรวจคัดกรองได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดย สปสช.ได้ปรับแก้ประกาศให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ โดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย ซึ่งกติกาเหล่านี้จริงๆดำเนินการมาตั้งแต่มกราคม 2564 แต่เพื่อความชัดเจนได้ลงประกาศรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น และมีผลตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา

“สปสช.เตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้ คาดว่าเพียงพอสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด โดยงบประมาณทั้งหมดได้มีการดำเนินการใช้มาตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3 พันกว่าล้านบาท และได้เงินกู้อีก 3 พันกว่าล้านบาท และล่าสุดช่วง 31 มี.ค.64 ได้รับเงินกุ้อีก 3 พันกว่าล้านบาท เมื่อแยกย่อยสำหรับปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 จนถึง มี.ค. 2564 สปสช.จ่ายเงินแก่โรงพยาบาลทั้งในส่วนของการตรวจคัดกรองและการรักษาไปแล้วกว่า 1,963 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง 1,861 ล้านบาท และค่ารักษา 101 ล้านบาท หรือหากแยกรายเดือน จะประกอบด้วย เดือน ต.ค. 2563 จำนวน 166 ล้านบาท พ.ย. 2563 จำนวน 115 ล้านบาท ธ.ค. 2563 จำนวน 165 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ที่เริ่มมีการระบาดรอบใหม่ จำนวนการจ่ายเพิ่ม โดยเดือน ม.ค. 552 ล้านบาท ก.พ. 496 ล้านบาท และเดือน มี.ค. 466 ล้านบาท" นพ.จเด็จ กล่าว

อนึ่ง ตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel โดยค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง ค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง, ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย, ค่าห้องดูแลการรักษา จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน, ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีรพ.เอกชนชนหลายแห่งปิดตรวจโควิด โดยระบุว่าบางแห่งน้ำยาตรวจหมด ว่าขณะนี้น้ำยาตรวจโควิด – 19 นั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่รพ.ไม่ตรวจเพราะมีเงื่อนไขว่าหากตรวจผลเป็นบวกต้องรับผู้ป่วยไว้ใน รพ. ซึ่งทำให้เตียงเต็ม แต่ไม่เกี่ยวกับปัญหาน้ำยาตรวจขาดแคลนอะไร สำหรับภาพรวมน้ำยาตรวจวัคซีนในประเทศนั้นมีประมาณ 3-4 แสนชุด ปัจจุบันมีสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรองนั้นมี 270 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในแต่ละแห่งที่ตรวจนั้นจะจัดหาน้ำยาตรวจมาเอง ส่วนกรมวิทย์ฯ จะมีสต็อกกลางจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีอยู่ 15 แห่ง ทั่วประเทศนั้น ให้หาสต็อกไว้เพิ่ม หากมีตรงไหนขาดแคลนหรือตรวจไม่ได้ก็จะลงไปสนับสนุน

“เป็นเงื่อนไขตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าหากรพ.เอกชนตรวจคนไข้ให้ผลเป็นบวกแล้วต้องรับไว้ในรพ.ด้วย ไม่ใช่ปล่อยคนติดเชื้อไปหารพ.นอนเอาเอง เราต้องไม่ให้กลับบ้านด้วยซ้ำ นี่เป็นหลักการแพทย์ที่รพ.เอกชนเองก็โอเค เพียงแต่ตอนนี้เจอสถานการณ์ว่าความจริง แทนที่จะโวยวายว่าเตียงเต็ม เรามีศูนย์เตียงอยู่ที่รพ.ราชวิถี เท่าที่มีข้อมูลมีอยู่ประมาณ 5 พันเตียง ตอนนี้ใช้ไปประมาณ 1.5 พันเตียง ดังนั้นหากรพ.ใดๆ ประสานมายังศูนย์จัดการเตียงเขาก็จัดการให้ได้ แต่รพ.ก็ต้องเป็นธุระในการนำส่งผู้ป่วยมา” นพ.ศุภกิจ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดประกาศ สธ. 2 ฉบับ ให้สถานพยาบาลเอกชนดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย "โควิด19")