ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติย้ำประสิทธิภาพวัคซีนโควิดป้องกันโรคได้ แม้ตัวเลข 50.7% เหตุมีข้อมูลวิชาการครบถ้วน ขอให้คนวิพากษ์วิจารณ์มั่นใจ และใช้การพิจารณาเปรียบเทียบหลายๆส่วน จึงขอให้มั่นใจป้องกันอาการรุนแรงโรคโควิด19 ได้

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 64 นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีมีการออกมาระบุถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพียง 50.4% ว่า ขอชี้แจงว่านักวิทยาศาสตร์ติดตามประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของวัคซีน มาตลอด ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค มีข้อที่น่าสังเกต คือ ในการวิจัยระยะ 3 นั้น ทำในกลุ่มบุคลากรทางด้านการแพทย์ ในประเทศบราซิล ซึ่งขณะนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรง และเมื่อเทียบข้อมูล ณ เวลานี้ ที่ผ่านการทดสอบระยะ 3 หลายตัวที่เป็นข่าวนั้น มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ทดสอบในบุคลากรทางด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ดังนั้น จึงแสดงผลในการป้องกันเชื้อในกลุ่มที่สัมผัสเชื้อบ่อย มีอยู่ที่ 50.7% ถือว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก และเมื่อพิจารณาถึงประสิทธิผลในการป้องกันในกลุ่มผู้ติดเชื้ออาการปานกลาง จนถึงอาการรุนแรงมีผล 83.7 % และกลุ่มที่อาการรุนแรงอยู่ที่ 100%

“ดังนั้น สื่อถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิผลของวัคซีนตัวนี้ขอให้ใช้ข้อมูลทางด้านวิชาการตรงนี้ให้ครบถ้วน และพิจารณาเปรียบเทียบหลายๆ ส่วนกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการตีพิมพ์ผลงานของวัคซีนออกมาแล้ว ดังนั้นจะเห็นความต่าง ความเหมือน หรือความใช้การได้ของวัคซีน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีประสิทธิผลพอสมควรและมีประสิทธิผลมากในการป้องกันอาการรุนแรง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ” นพ.นคร กล่าว

ส่วนวัคซีนแอสตราเซนเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย จำนวน 61 ล้านโดส จะส่งมอบเดือน มิ.ย.มีข้อมูลตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีผลต่อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ป้องกันอาการป่วยได้ 70% ส่วนไวรัสอื่นๆที่ยังไม่มีการกลายพันธุ์นั้นการป้องกันอยู่ที่ 85 % ดังนั้นวัคซีนทั้ง 2 ตัวมีผลในการป้องกันอาการป่วยได้

ขอฝากว่าการพิจารณาเรื่องวัคซีนนั้น ข้อ 1 ไม่สามารถจะมาเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลข ประสิทธิผล ของวัคซีน เพียงลำพังเท่านั้น ต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบด้วยเช่นผลการศึกษาระยะ 3 ที่แสดงผลของวัคซีนนั้นทำในกลุ่มประชากรใด หากเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำนวนมาก พื้นที่มีการติดเชื้อมาก เจอเชื้อได้บ่อย ขณะที่วัคซีนบางตัวทำในกลุ่มประชากรในชุมชนทั่วไป จะเอาตัวเลขเปอร์เซ็นมาเทียบกันไม่ได้.