ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำฉีดวัคซีนโควิดให้ทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่มีเลือกปฏิบัติ ทั้งต่างชาติ ทูตานุทูต ล้วนเป็นบุคคลที่พำนักในประเทศไทย พร้อมเปิดคลินิกอาคารบางรัก ล่าสุดวัคซีนซิโนแวคเข้าไทยอีก 1 ล้านโดสแล้ว เข้าสู่ขั้นตอนตรวจสอบคาดใช้เวลา 1 สัปดาห์ก่อนกระจายฉีดให้ปชช. ตามกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อเวลา 11.00 น. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวกรณีการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่า นโยบาลของรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนโควิดจะฉีดให้กับทุกคนในแผ่นดินไทยโดยความสมัครใจ หมายความว่า บุคคลใดที่อยู่ในประเทศไทยหากสมัครใจและมีข้อบ่งชี้ ไม่มีข้อห้ามก็จะได้รับการฉีดทั้งหมด นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศจะต้องฉีดอย่างน้อย 70% ของประชากร จากการคำนวณทั้งคนไทย คนต่างชาติที่อยู่ในแผ่นดินไทยที่ทำงาน รวมทั้งทูตานุทูต คือ 70ล้านคน โดยคนไทย 67 ล้านคน และคนต่างชาติที่อยู่ในไทยอีกประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อคิด 70% ทำให้ยอดฉีดวัคซีนในแผ่นดินไทย 50 ล้านคน วัคซีน 2 โดสฉีด 1 คน จะเป็น 100 ล้านโดส

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีข้อซักถามว่า การฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติ หรือทูตานุทูตมีหลักปฏิบัติอย่างไร เรายึดตามสากล ข้อบ่งชี้ตามทางการแพทย์ทั้งหมด เรายึดหลักเกณฑ์อย่างไรกับคนไทย ต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็เหมือนกัน และไม่มีใครฉีดก่อนฉีดหลัง การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ขอยืนยันว่า ทุกคนในแผ่นดินไทยได้ฉีดวัคซีนพร้อมเพรียงกัน และใกล้เคียงกันตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุข

“ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้จัดสถานที่ฉีดวัคซีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน และคณะทูตานุทูต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดคลินิกบริการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม นอกจากรพ.ภาครัฐและเอกชน ยังมีคลินิกเพิ่มเติมที่อาคารบางรัก อยู่ใจกลางเมือง มีรถไฟฟ้า เพราะบริเวณนั้นใกล้สถานทูตต่างๆ และมีชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีคร.กล่าวอีกว่า เช้าวันนี้วัคซีนโควิดของซิโนแวคเข้ามาประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในเชิงคุณภาพ ทั้งเอกสาร การตรวจห้องปฏิบัติการใช้เวลาประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นจะกระจายวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายต่อไป ซึ่งในเดือน พ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาเยอะ และจะกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนให้กับทูตประเทศต่างๆ เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเลือกวัคซีนจากประเทศต้นทาง แล้วส่งเข้ามา  นพ.โอภาส กล่าวว่า การส่งวัคซีนเป็นเอกสิทธิ์ทางการทูตของแต่ละประเทศ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับแจ้งข้อมูลเหล่านี้ อย่างที่ทราบว่าคณะทูตเวลาอยู่ในสถานทูตก็ถือเป็นประเทศของเขา เป็นเอกสิทธิของเขา เป็นไปตามหลักสากล ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขไมได้รับแจ้งว่ามีทูตประเทศใดบ้างที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด 

เมื่อถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตเนื่องจากมีทูตได้รับวัคซีนแล้วแต่เป็นชนิดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย กรณีเช่นนี้ทำได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการปฏิบัติกับทูตานุทูตนั้นเป็นไปตามหลักสากล ก็ขอย้ำอีกครั้งว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับแจ้งว่ามีการนำวัคซีนอะไรเข้ามาผ่านกระทรวงสาธารณสุข 

เมื่อถามถึงคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนพร้อมๆ กับคนไทยเลยหรือไม่ แล้วจะสามารถลงทะเบียนฉีดได้อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า เท่าเทียมกัน ขณะนี้แค่รอวัคซีนเข้ามา ยกตัวอย่างที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวไปจำนวนมาก ดังนั้นหลักปฏิบัติ เป็นไปตามนโยบายคือทุกคนในแผ่นดินไทยต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เพราะจะเห็นว่าคนไทยมี 67 ล้านคน คนต่างด้าว 3 ล้านคน รวมเป็น 70 ล้านคน ต้องฉีด 70%ของ70 ล้านคน หรือประมาณ 49 ล้านคน แต่เราปัดเศษเป็น 50 ล้านคน ถึงได้มีการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส 

สำหรับการแจ้งความประสงค์ในการลงทะเบียนรับวัคซีนนั้น ก็ต้องชี้แจงว่าไม่ได้ทำผ่านเพียงแอพพลิเคชั่น หรือไลน์ “หมอพร้อม”เท่านั้น แต่มีหลายช่องทาง โดยอีกระบบที่เตรียมไว้ คือคนมีโรคประจำตัว รพ.จะลีสต์รายชื่อ และนัดหมายมาฉีดได้ หรือบางกรณีให้หน่วยงานต่างๆ รวบรวมข้อมูลลูกจ้างแล้วแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่ละจังหวัดก็ได้ เพราะการกระจายวัคซีนจะใช้ระบบพื้นที่เป็นหลัก ส่วนกรณีมีการตกหล่น กระทรวงจะมีการเก็บตกกลุ่มนี้แล้วส่งวัคซีนลงไปเสริมอีกครั้ง เพราะฉะนั้นตนต่างด้าว คนต่างชาติในไทย หากต้องการรับวัคซีนก็สามารถแจ้งไปที่ สสจ. จังหวัดนั้นๆ หรือแจ้งที่กระทรวงสาธารณสุขได้ หรือแจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ มีหลายช่องทางที่ให้ติดต่อกันได้ 

เมื่อถามถึงการลงทะเบียนฉีดในระยะแรก 16 ล้านคน ทราบว่าตอนนี้ยอดลงทะเบียนยังไม่ถึงครึ่งจะมีมาตรการรณรงค์หรือดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า คงสื่อสารเป็นระยะ จริงๆ การลงทะเบียน 16 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว บางครั้งกลุ่มเหล่านี้จะรู้สึกว่าไปแจ้งที่โรงพยาบาล สะดวกกว่าการใช้แอพพลิเคชั่น ตอนนี้กำลังมีการปรับระบบหมอพร้อมเพิ่มเติมว่าจะปรับอย่างไร