ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 63 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลตำบลเชียงรากน้อยได้มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคโควิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุข ผู้นำชุมชน และรพ.สต. ร่วมกับ อสม. เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “อภิสิทธิ์ อัครวรรธนกุล” นายกเทศมนตรีตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับการบริหารงานในพื้นที่ ดังนี้

*กระบวนการบริหารงานกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนการจัดการเรามีหน่วยงานสาธารณสุขดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาโควิด ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เมื่อปี 63 ที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นเทศบาลได้ทำการให้น้ำยาและฉีดพ่นค่าเชื้อตามจุดเสี่ยงต่างๆในชุมชน จากนั้นได้รับงบประมาณในการจัดทำหน้ากากผ้า มีการฝึก อสม. และผู้นำชุมชนในการทำ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั้งตำบล ที่กล่าวมานั้นใช้งบประมาณของเราเองด้วยส่วนนึง และยังได้เงินจาก อบจ. ที่เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับการเยียวยานั้น เทศบาลได้ทำการตกลงกับทางจังหวัดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อครัวเรือน โดยต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ ส่วนประชาชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ เรามีหน่วยงานเอกชนเข้ามาช่วยเป็นการแจกถุงยังชีพแทนด้วยเช่นกัน

*มีการรับมือกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดอย่างไร

ในการรับมือคนที่เข้ามาจากต่างพื้นที่นั้น เราโชคดีที่ตำบลเชียงรากน้อยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้มแข็ง ซึ่งเราจะมีการติดตามดูแล รวมทั้งมี อสม. เข้าไปสำรวจอยู่ตลอด และได้รับรายงานตลอด สำหรับเคสตัวอย่างล่าสุด คือครอบครัวอยู่กัน 3 คน คนติดเชื้อคือพ่อกับแม่ ส่วนลูกอายุ 13 ปี ต้องอยู่บ้านคนเดียว 14 วัน ซึ่ง อสม. ได้รับผิดชอบคอยส่งอาหารและตรวจอาการทุกวัน รวมถึงการให้ความรู้ด้วย ทางเทศบาลเองก็ได้รับรายงานอยู่ตลอด ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันทั้งท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นอย่างดี

*วิธีการรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน

การรณรงค์การรับวัคซีนเราได้ดำเนินการทั้งตำบล ได้รับความร่วมมือจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. และอสม. โดยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในการจองฉีดวัคซีน มีการใช้งบประมาณในการดำเนินงานจาก สปสช. ซึ่งเราใช้วิธีแจกแมสบ้านละ 1 กล่อง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานจะได้รับค่าอาหาร เนื่องจากอาจเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เราได้ผลลัพธ์จากการสำรวจประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เราได้มองถึงเรื่องวัคซีนชิโนฟาร์มที่เข้ามา ทางเทศบาลเองก็มีความพร้อมในการซื้อวัคซีน แต่ต้องรอดูหน่วยงานหลักๆ ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือกระทรวงมหาดไทย ให้ชัดเจนอีกครั้ง

*มีปัญหาการเข้าถึงวัคซีนหรือไม่

ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนนั้นเรายังไม่รู้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ แต่ในเรื่องของการลงทะเบียน เราระดมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่เทศบาล ลงไปสำรวจเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างมาก ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาถึงประชาชนจะไม่กล้าฉีด ดังนั้นจึงเป็นประเด็นหลักที่เราคำนึงถึง

ซึ่งวิธีการเผยแพร่ความรู้นั้นชาวบ้านจะได้ความรู้จาก อสม. เพราะ อสม. ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด โดยเรามีการจัดอบรม อสม. เป็นอันดับแรก เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจและสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ ทำให้ประชาชนเปิดใจยอมรับที่จะฉีดวัคซีน ตามวัตถุประสงค์ที่ว่า สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน

*พื้นที่มีการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. 64 อย่างไร

สำหรับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศบาลคือ จะช่วยทำการคีย์ข้อมูลของประชาชน เพื่อที่จะนำใบนัดออกมา ซึ่งส่วนใหญ่สถานที่นัดฉีดวัคซีนน่าจะเป็นโรงพยาบาลบางปะอิน ทั้งนี้จากการประชุมกับทางโรงพยาบาลบางปะอิน เรายังได้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลมีความสามารถฉีดวัคซีนได้ 600 โดส ต่อวัน

นอกจากนี้ เทศบาลยังมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการเดินทางสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่จะเดินทางมารับวัคซีน เพราะเรามีรถฉุกเฉินที่สามารถคอยช่วยเหลือได้