ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอยง” เผยโดยหลักแนะนำฉีดวัคซีนโควิดชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ยกเว้นเข็มแรกแพ้ ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัครวิจัยรับวัคซีนสลับชนิดเข็ม 1 และ 2 ในกลุ่มอายุ อายุ 18-59 ปี สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 18-24 มิ.ย.นี้ เผยคุณสมบัติต้องไม่เคยรับวัคซีนโควิดมาก่อน

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กYong Poovorawan ถึงการศึกษาวิจัยการรับวัคซีนโควิด 19 สลับชนิดกันในเข็มที่ 1 และ 2 “ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า” ว่า ปัจจุบันการให้วัคซีนโควิด 19 ยังแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็มที่ 1 และ 2 แต่ด้วยเหตุผลว่า บางคนฉีดเข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มที่สองฉีดเป็นแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ การให้วัคซีน 2 เข็ม ต่างชนิดกัน จะเป็นประโยชน์ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุดไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่ 2 และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้

ดังนั้น การสลับเปลี่ยนวัคซีนจึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ซึ่งขณะนี้ต้องการอาสาสมัครรับวัคซีนโควิด 19 สลับชนิดกัน โดยโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว โครงการนี้จึงจะขอรับสมัครอาสาสมัครมารับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกัน

โดยกลุ่มแรกจะฉีด เข็มที่ 1 เป็น Sinovac เข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca เข็มที่ 2 เป็น Sinovac และจะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีน และตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการวิจัยความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน และการใช้สลับกัน (เข็มที่ 1 และ 2) ของวัคซีนโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ชนิดเชื้อตาย (Sinovac) และไวรัสตัวนำ (AstraZeneca): การศึกษาทางคลินิก แบ่งอาสาสมัคร ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้



ได้รับ Sinovac เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย AstraZeneca เป็นเข็มที่สอง
จะมีนัดดังต่อไปนี้
1) วันที่ 0 เจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน และ ฉีดวัคซีนเข็มแรก (Sinovac)
2) วันที่ 21-28 หลังจาก 1 เจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนเข็มที่สอง (AstraZeneca)
3) เจาะเลือดหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 1 เดือน
4) เจาะเลือดหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 3 เดือน

2) ได้รับ AstraZeneca เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย Sinovac เป็นเข็มที่สอง
จะมีนัดดังต่อไปนี้
1) วันที่ 0 เจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน และ ฉีดวัคซีนเข็มแรก (AstraZeneca)
2) วันที่ 70-84 (10-12 สัปดาห์) หลังจาก 1 เจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนเข็มที่สอง (Sinovac)
3) เจาะเลือดหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 1 เดือน
4) เจาะเลือดหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 3 เดือน


โดยอาสาสมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
อายุระหว่าง 18-59 ปี
2. อาศัยอยู่ในกรุงเทพหรือปริมณฑล สะดวกเดินทางมารับวัคซีนและเจาะเลือดตามนัด ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ในวันและเวลาราชการ)
3. ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อน
4. ไม่เคยได้รับวัคซีน COVID-19 มาก่อน
5. ไม่มีประวัติแพ้ง่าย โรคภูมิแพ้ หรือส่วนประกอบของสารที่อยู่ในวัคซีน
6. อาสาสมัคร สมัครใจเข้าร่วมโครงการโดยยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
7. ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องนอนโรงพยาบาล
8.ไม่กินยากดภูมิต้านทาน
9.ไม่มีประวัติโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากการติดเชื้อ HIV หรือเป็นมาแต่กำเนิด


ทั้งนี้ ในแบบฟอร์มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2564 - 24 มิถุนายน 2564  หากท่านมีคุณสมบัติเหมาะสม ทางผู้วิจัยจะติดต่อกลับมาหาท่านภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 16:00 น.

หากเลยวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 16:00 ยังไม่ได้รับการติดต่อ แสดงว่าท่านไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นอาสาสมัคร

หรือสมัครผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด หรือ กด

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดตัวเลขจัดสรรวัคซีนโควิด 10 ล้านโดส ก.ค.นี้ แยกรายจังหวัด พื้นที่กรุงเทพฯ สูงสุด 2.5 ล้านโดส)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org