ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ รามาธิบดี เผยโควิดสายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) ไม่น่ากังวลใจ เมื่อเทียบกับอัลฟา(อังกฤษ) และเดลต้า(อินเดีย) เหตุไม่แพร่เร็ว หนำซ้ำในกทม.ยิ่งยาก เพราะมีการปูพรมตรวจ ขอจับตา 1 เดือน สายพันธุ์อินเดียจะครองพื้นที่หรือไม่

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์กรณีตรวจพบสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) จากนักเรียนโรงเรียนในจ.ยะลาซึ่งเดินทางกลับมาภูมิลำเนา ว่า ไม่แน่ใจว่ามีการส่งตรวจเชื้อมาที่ศูนย์จีโนมฯ หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมฯ และ กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้มีการถอดรหัสพันธุ์กรรมตัวอย่างส่งตรวจไวรัสก่อโควิด-19 ที่ส่งมาจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ล็อตล่าสุดส่งมาประมาณ 20-30 ตัวอย่าง สุ่มมาจำนวน 10 ตัวอย่างพบว่าเป็นสายพันธุ์เบต้าทั้งหมด

“อย่างไรก็ตาม ยังไม่น่ากังวลใจเท่าไหร่ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ช้ากว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และเดลต้า (อินเดีย) มาก ความจริงเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทยนานแล้วแต่ไม่ได้แพร่กระจายมากอย่างที่คาดคิด ในกรุงเทพฯ เชื้อนี้คงเข้ามายากมาก เพราะมีการปูพรมไว้แล้วด้วยสายพันธุ์อัลฟาและเดลต้า” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หากถามแพทย์ก็ไม่อยากให้เปิด แต่ถามชาวบ้านและผู้ประกอบการก็อยากให้เปิด เพราะเป็นเรื่องปากท้อง จึงต้องสร้างความสมดุล ข้อเสนอในแง่การตรวจวินิจฉัยโรค นอกจากการฉีดวัคซีนรวมถึงการยืนยันผลตรวจคนที่เดินทางเข้ามาแล้ว อยากสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมสามารถตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง หากพบการติดเชื้อตรงไหนจะได้เข้าควบคุมได้เร็วและง่ายขึ้นไม่เสียเวลา เหมือนเช่นที่อังกฤษแจกให้ประชาชนตรวจเองที่บ้าน ชุดตรวจเหล่านี้สามารถนำเข้ามาได้โดยต้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง หรือจะให้นักวิทยาศาสตร์ไทยผลิตก็ได้ไม่ยาก และให้ใช้เฉพาะพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เหมือนเป็นพื้นที่ทดลองดำเนินการและเก็บข้อมูล ถ้าทำแล้วได้ผลก็ค่อยขยายพื้นที่ หรือไม่ได้ผลก็ล้มเลิก ใช้โอกาสที่ตั้งแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาศึกษาเรียนรู้ให้คุ้มค่า

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุดจากการสุ่มตรวจเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย ที่ศูนย์จีโนมฯ ร่วมกับ CONI วิจัย พบว่าขณะนี้ 71% เป็นสายพันธุ์อัลฟาที่ยังครองพื้นที่อยู่ 22% เป็นสายพันธุ์เดลต้า และ 3% เป็นสายพันธุ์เบต้า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่เราใช้อยู่ขณะนี้ยังใช้ได้ผลกับ 2 สายพันธุ์ดังกล่าว การระบาดที่รวดเร็วโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า จำเป็นต้องเร่งปูพรมฉีดวัคซีน จึงอยากให้ทุกคนเข้ารับวัคซีน ต้องดูแนวโน้มอีก 1 เดือนจะเห็นผลมากขึ้นว่าสายพันธุ์เดลต้าจะครองพื้นที่หรือไม่ หากถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้วเกิน 50% ก็มีความแน่นอนว่าสายพันธุ์เดลต้าจะครองพื้นที่แทนอัลฟา ส่วนการเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้น พอถึงจุดนั้นถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดก็คงเปิดได้ หากไม่ลดหรือเพิ่มขึ้นก็อาจต้องเลื่อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหมือนที่อังกฤษที่กลับมาระบาดมากขึ้นก็เลื่อนการเปิดเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อยู่ที่ 9.8% ส่วนใหญ่อยู่ที่ กรุงเทพมหานคร แต่จากข้อมูลของศูนย์จีโนม ที่เปิดเผยล่าสุดในวันนี้ (21 มิ.ย.) พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า อยู่ที่ 22% เท่ากับว่าใน 6 วันที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นเกือบ 13%