ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอยง” เผยหากอัตราติดเชื้อหลักหน่วย หรือหลักสิบรายต่อวัน เสียชีวิต 2-3 คน ถึงเวลานั้นอาจเปิดประเทศไทย ด้านอธิบดีกรมวิทย์ย้ำ! ปัจจัยทั้งหมดจะต้องถูกนำมาประมวล ต้องรอดูสถานการณ์ ขณะที่ศิริราช -ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯเป็นห่วงเช่นกัน

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความพร้อมอาจทยอยเปิดได้ก่อน แต่ยังต้องมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคนั้น ปรากฏว่าหลังจากพบโควิดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในประเทศไทย จากที่สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ มีแนวโน้มว่าพบสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จะส่งผลต่อการเปิดประเทศหรือไม่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงว่า ตัวเลขผู้ป่วยยังพุ่งสูง มีตัวเลขเป็นพันๆ ราย หากเปิดประเทศกังวลว่า อาจเกิดการระบาดระลอก 4 

(อ่านเพิ่มเติม : ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ หวั่นเปิดประเทศทำระบาดใหญ่ระลอก 4)

โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความห่วงใยกรณีการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่า นโยบายการเปิดประเทศ เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศต้องตั้งเป้าหมาย เป็นการทำงานเชิงรุก เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศแล้ว ก็ถือเป็นนโยบายและข้อสั่งการที่หน่วยราชการทุกแห่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมการให้ความร่วมมือ ซึ่งตนได้ประชุมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งแล้ว และแจ้งให้ทราบถึงนโยบายของนายกฯ และขอให้ทุกจังหวัดเตรียมตัวทั้งบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ เพื่อให้นโยบายการเปิดประเทศมีความเป็นไปได้มากที่สุด  ทั้งนี้เราต้องชั่งน้ำหนักทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความปลอดภัยของประชาชนและน้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย หากเป็นประโยชน์พร้อมจะนำมาใช้ โดยไม่มองว่าเป็นความเห็นของฝ่ายใด แต่จะมองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิชาการ    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเรื่องนี้ภายในงานแถลงข่าวประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธุ์โควิด ซึ่งเป็นงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า ถ้าถามว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศตอนนี้หรือไม่นั้น ตนคงบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน ถ้าเราช่วยกันจริงๆ แล้วสมมติว่าเราช่วยกันควบคุมโรคนี้ให้ได้ มีอัตราการติดเชื้อหลักหน่วย หรือหลักสิบรายต่อวัน และไม่มีรายงานการเสียชีวิตเกิดขึ้น หรือเสียชีวิตแค่วันละคน 2 คน หรือ 3 คน ถึงเวลานั้นก็คิดว่าเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศ

“แต่ถ้ายังมีผู้ป่วยหลักพันคน ถึงเปิดประเทศได้ก็เชื่อว่าไม่มีใครมา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ช่วยกันควบคุมการระบาดของโรคนี้ให้ได้เร็วที่สุด ทั้งการเข้มมาตรการควบคุมโรค การมีวินัยในการป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย/ผ้า การเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และเร็วที่สุด” ศ.นพ.ยง กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอยง” ศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธ์เดลต้า กระตุ้นเข็ม 3 ต้องสลับยี่ห้อหรือไม่ รู้ผล 1-2 เดือน!!)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เรื่องการเปิดประเทศนั้น สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ต้องดูสถานการณ์ แต่เราไม่ได้ไปรอดูจนถึงวันนั้น ทั้งนี้ การเดินหน้าเปิดประเทศใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. คือ 4 เดือนหลังจากนั้น หมายความว่าการฉีดวัคซีนกว่าจะถึงวันนั้น ก็จะครอบคลุมประชากรไทยจำนวนมากพอสมควร ในเปอร์เซ็นต์ที่อาจจะกว่าครึ่งของประชากร โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่จัดทำแซนด์บ็อกซ์ มีการให้วัคซีนไปในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงเพราะฉะนั้นถ้าลดการระบาดได้จริง สายพันธุ์ต่างๆ ก็เข้าไปได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก

“ปัจจัยทั้งหมดจะต้องถูกนำมาประมวล แต่เชื่อว่าถ้าคนไทยช่วยกันจริงๆ ควบคุมโรคได้บวกกับการฉีดวัคซีนได้มากพอ การระบาดก็จะลดลงโดยปริยายอยู่แล้ว ถ้าทำอย่างนี้โดยเคร่งครัดตัวเลขติดเชื้อไม่มากเชื่อว่าการเปิดประเทศ 120 วันก็คงจะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูสถานการณ์ เหมือนต่างประเทศที่จะเปิด แต่เมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ก็ต้องเลื่อนการเปิดประเทศไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

ไม่เพียงเท่านี้ ข้อห่วงใยการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเริ่มวันที่ 1 ก.ค. 2564 นี้ ......

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  เคยออกมาเตือนเช่นกัน โดยระบุว่า สิ่งที่ตนห่วงมาก คือ กระบวนผ่อนคลายยังไม่น่ากลัวเท่าถ้าเรายังไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนที่เดินทางเข้าประเทศผ่านทางเส้นทางธรรมชาติเข้ามา ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาบ่อยครั้งอาจเจอสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งน่าห่วงมาก ส่วนกระบวนการที่ผ่อนคลายเราก็ต้องเฝ้าจับตา และพร้อมให้ข้อเสนอแนะหากเห็นว่าเร็วหรือมากเกินไป ส่วนตัวยังย้ำสุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ

กรณีการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วไป แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้น ตอนนี้มีการเตรียมการเพื่อเปิดภูเก็ตเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้เยอะเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ความพร้อมของจังหวัดในการรองรับระบบต่างๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาและมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา ขอย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หากสายพันธุ์แปลกใหม่เข้ามาแล้วครอบคลุมไม่ได้ กลไกการจำกัดพื้นที่หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนาน ทุกคนมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย เป็นสิ่งที่น่ากลัว หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ตอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูเก็ตอีก

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ศิริราชเผยสถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิดสูง แต่ปัจจัยสายพันธุ์มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย!)