ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลประสิทธิผลวัคซีน Sinovac ในไทย กรณีฉีด 2 เข็มมากกว่า 14 วัน พื้นที่ภูเก็ตป้องกัน 90.7% สมุทรสาคร 90.5% เชียงราย 82.8% ส่วนข้อมูลกรมควบคุมโรค 70.9% แต่หากฉีด 1 เข็มข้อมูลกรมควบคุมโรคป้องกันได้ 39.4% ดังนั้น หากฉีดไม่ครบ 2 เข็ม 14 วันยังเสี่ยง!! และย้ำอยู่ระหว่างศึกษาผลต่อการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงวัคซีนซิโนแวคกับการป้องกันโควิด19 ภายในงานแถลงข่าว "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย” ซึ่งพบว่าเดลตา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่า 2-3 เดือนจะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟานั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์พบโควิดสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น! กรุงเทพฯ สูงสุด คาด 2 เดือนแทนอัลฟา)

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีมีคนถามว่าซิโนแวคจะช่วยป้องกันได้หรือไม่ ว่า ในการประชุมอีโอซีเมื่อเช้าวันนี้ (28 มิ.ย.) มีการรายงานการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ในพื้นที่ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เราวัดการติดเชื้อโดยตรง โดยภูเก็ตพบว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ห่าง 14 วัน ช่วงเดือนเม.ย.- พ.ค. ปรากฏว่า 90.7% ยังป้องกันโรคได้ ไม่ติดเชื้อ ส่วนจ.สมุทรสาครช่วงเดือนเม.ย. ป้องกันได้ 90.5% เชียงรายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ฉีดช่วงมิ.ย. พบป้องกันได้ 82.8% ภาพรวมของกรมควบคุมโรคช่วงเดือน พ.ค. ป้องกันได้ 70.9% หากฉีดเข็มเดียวกันได้ประมาณ 39.4%

“ดังนั้น หากยังไม่ครบ 2 เข็มครบ 14 วันยังมีความเสี่ยงอยู่ ส่วนว่าจะป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างไร เท่าไหร่นั้น กำลังศึกษาข้อมูล อาจต้องใช้ข้อมูลช่วง มิ.ย.ที่ กทม.มีเดลตา ต้องหาข้อมูลต่อไป เป็นข้อมูลจากสถานการณ์จริง ไม่ใช่หลอดทดลอง จะช่วยบอกสถานการณ์ให้วัคซีนแล้วคนมีภูมิฯ มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีข้อมูลของแอสตร้าเซนเนก้าหรือสายพันธุ์เดลตาจะมาแจ้งต่อไป ซึ่งความสามารถต่ออัลฟายังมีอยู่ ส่วนเดลตาต้องรอศึกษา และจะฉีดเข็ม 3 หรือไม่ต้องรอข้อมูลก่อน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการศึกษากรณีฉีดวัคซีนซิโนแวคครบแล้ว ป้องกันอาการรุนแรงได้อย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กำลังทำเพิ่มเติม แต่จำเป็นต้องได้จำนวนคนไข้มากพอ ซึ่งขอเวลาดำเนินการ โดยในการประชุมอีโอซีเมื่อเช้า ปลัด สธ.สั่งการให้กรมควบคุมโรคไปทำเพิ่ม โดยกำลังไล่ข้อมูลกันอยู่ เพราะข้อมูลต้องชัด มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ซึ่งหลายประเทศบอกว่าการป้องกันการติดเชื้ออาจไม่มาก แต่ป้องกันการเสียชีวิตอาการรุนแรงได้ อย่างเชียงรายบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดก็ไม่มีใครมีปัญหาอะไรเลย และไม่มีใครเสียชีวิตจากที่มีการศึกษาทั้งหมด

"สิ่งสำคัญขณะนี้สายพันธุ์เดลตามีเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องเข้มมาตรการป้องกันโรค ทั้งสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจไม่ต้องใส่หน้ากาก 2 ชั้น ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เมื่อเปิดปากรับประทานอาหารต้องระวังให้มาก และเมื่อถึงคิวฉีดวัคซีนแล้ว ก็ควรรีบไปฉีด จะพันธุ์อะไรก็ตาม มีเกราะป้องกันในตัวแทนที่ไม่มีอะไรเลย ส่วนหน้ากากผ้าหลักการเป็นการลดความเสี่ยง กันไวรัสไม่ได้ 100% แต่เป็นการลดความเสี่ยง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว