ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันกรณีเอกสารการประชุมวิชาการเรื่องวัคซีน ไม่ใช่ของจริง หากสังเกตดีๆ เหมือนเอกสารเขียนเองอ่านเอง และเอาสไลด์การประชุมไปปะติด หากเผยแพร่ก็เหมือนเอาของไม่จริงกระจายสร้างความเข้าใจผิด ย้ำ! คนสรุปไม่ใช่เลขาฯประชุม ขอให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจการหาวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ทางสธ.ไม่นิ่งเฉย อยู่ระหว่างพิจารณาหาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

กรณีมีการเผยแพร่เอกสารการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน โดยประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ ในที่ประชุมมีการพูดว่า หากนำวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 มากระตุ้นบุคลากรที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จะแสดงว่าซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพนั้น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า เอกสารที่ออกมาไม่ใช่เอกสารฉบับจริงของที่ประชุม โดยวันนั้นเป็นการประชุมวิชาการ มี 3 คณะ คือ คณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ใน พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการวิจัยและวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งคนเข้าร่วมประชุมค่อนข้างมาก มีทั้งร่วมประชุมและออนไลน์ แต่ทั้งหมดเน้นเรื่องวิชาการ เกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ รวมทั้งไฟเซอร์ว่าควรต้องฉีดอย่างไรต่อไป  โดยกลไกเมื่อคณะชุดนี้ทำเสร็จ ต้องเสนอต่อคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นเรื่องวิชาการ ทั้งคณะกรรมการวิชาการ ต้องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบให้เป็นข้อสั่งการ ส่วนคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคก็ต้องเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีน ส่วนคณะที่สามก็ต้องเสนอคณะกรรมการด้านการจัดการวัคซีน เมื่อคณะที่เป็นทางการเห็นชอบก็จะเสนอ ศบค.เห็นชอบต่อไป

“ส่วนเอกสารการประชุมที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้น ไม่เรียกว่าเอกสารหลุด แต่เป็นเอกสารที่ไม่จริง เพราะคนเขียนสรุปไม่ใช่ฝ่ายเลขาของการประชุมนั้นๆ ไม่มีแพตเทิร์นทางการ เป็นเหมือนเขียนอ่านกันเอง ซึ่งเอกสารนี้ไม่จริง ส่วนที่ในการประชุมที่มีการเสนอความคิดเห็น อย่างไรเสียไม่มีข้อสรุปใดๆทั้งสิ้น” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าสรุปเอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารจริงใช่หรือไม่ นพ.โอกาส กล่าวว่า หากสังเกตดีๆ เหมือนเอกสารที่เขียนเองอ่านเอง และเอกสารนั้นเหมือนเอาสไลด์การประชุมไปปะติด ยืนยันว่าไม่ใช่เอกสารจริงจากฝ่ายประชุม ทั้งนี้ ไม่ควรเผยแพร่ต่อ เพราะถ้าเผยแพร่ต่อก็จะเป็นเรื่องไม่จริงไปกันใหญ่

นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติการประชุมวิชาการก็จะมีความคิดเห็นหลากหลาย คนเข้าร่วมก็แสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่ข้อสรุป ที่สำคัญต้องดูบริบทว่า เขาพูดอะไร การเอาคำใดคำหนึ่งไปโค้ทอย่างเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม แต่การประชุมวันนั้น ตนก็ไม่ได้อยู่ในการประชุมตลอด จึงไม่ทราบว่ามีการพูดอะไร อย่างไร แต่โดยมารยาทก็ไม่ควรพูด แต่ที่แน่ๆ เอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารหลุด แต่ไม่จริงเลย

เมื่อถามว่ากรณีไฟเซอร์ที่จะได้รับการบริจาค 1.5 ล้านโดส ยังไม่มีข้อสรุปการบริหารจัดการฉีดให้กลุ่มไหนใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการว่าจะส่งให้ไทย เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ต้องติดตามกันก่อน ต้องเอาข้อมูลมาประมวลก่อนและจะมาบริหารจัดการอีกที เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

เมื่อถามว่า มีแพทย์กลุ่มหนึ่งขอให้นำวัคซีนไฟเซอร์ที่จะบริจาคมาให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อกระตุ้นเข็มที่ 3 นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นความเห็นที่เรารับฟัง แต่ยังไม่ทราบว่า สหรัฐจะบริจาคเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แต่มีกรอบสั้นๆว่าจะมาเดือนนี้

เมื่อถามว่าบุคลากรสาธารณสุขยังกังวลเรื่องกระตุ้นเข็ม 3 ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เพราะขณะนี้หลายคนรู้สึกขาดขวัญกำลังใจมาก นพ.โอภาส กล่าวว่า ทางท่านรองนายกฯ รมว.สธ. และท่านปลัดสธ.ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดว่า ส่วนไหนจะมีความปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด ขอให้บุคลากรมั่นใจว่า ทางกระทรวงฯ จะจัดหาสิ่งที่ปลอดภัยทั้งหมดให้

เมื่อถามว่ากรณีการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม แล้วหากกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA จะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องวัคซีนเราสนใจเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งประสิทธิภาพวัดได้หลายอย่าง เช่น ผลแล็ปในห้องทดลอง แต่ผลแล็ปกับความจริงก็แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผลแล็ปก็คล้ายๆเฟสสอง แต่หากทดลองประชากรกลุ่มไม่มากถือเป็นเฟสสาม และเมื่อผ่านก็จะนำไปสู่ประชาชนกลุ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เรามักเอาผลทางแล็ปมาอิงกับผลจริง แต่ผลจริงถือเป็นข้อมูลสำคัญ ส่วนความปลอดภัยของวัคซีน อย่างที่ทราบขณะนี้วัคซีนใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีใครทราบผลระยะยาว อย่างบางยี่ห้อที่เป็น mRNA มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็พบว่า ในคนหนุ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจำนวนหลายพันราย ซึ่งข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนรายสัปดาห์ รายวัน จึงต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อันไหนเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org