ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยขณะนี้มีผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้านแล้ว 200 ราย อาการดีไม่มีปัญหา ขณะที่เพจต่างๆ ให้ความร่วมมือนำคนไข้ขึ้นทะเบียนกับรพ.แล้วอีก 200 ราย ส่วนแยกกักในชุมชนมีอีก 200 ราย ย้ำ! มีระบบติดตามอาการผู้ป่วย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ก.ค.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ว่า ขอย้ำว่า เราไม่ได้อยากให้มีการดำเนินการตามแนวทางนี้ เนื่องจากจะมีผลเสีย 2 อย่าง ข้อแรก กรณีอยู่บ้านคนเดียว หากสุขภาพแย่ลง และไม่มีคนดูแล ไม่มีใครทราบ อาจเกิดอันตรายและเสี่ยงเสียชีวิต ข้อที่สอง เป็นผลเสียต่อชุมชน จากการทบทวนในต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่การระบาดรอบแรกมีหลายประเทศใช้วิธีนี้ อย่างอังกฤษ พบว่า ผลการแยกกักตัวที่บ้านไม่ได้ 100% ทำให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัว หรือออกมาซื้ออาหารก็อาจแพร่เชื้อไปชุมชน

“หากไม่จำเป็นไม่ได้อยากทำ แต่ที่ต้องทำ เนื่องจากอัตราการครองเตียงประจำวัน ในกทม.และปริมณฑล ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 เดิมครองเตียง 19,629 เตียง แต่ล่าสุดวันที่ 9 ก.ค.2564 อัตราครองเตียงขึ้นมาถึง 30,631 เตียง แค่ 1 เดือนผ่านไปอัตราครองเตียงขึ้นถึงหมื่นเตียงต่อวัน นี่คือภาระที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกำลังประสบอยู่ ทั้งนี้ มีอาการไม่มากและไม่มีอาการ หรือสีเขียวหรือเขียวอ่อนรวมแล้ว 76% ส่วนสีเหลือง 20% สีแดง 4% แต่ตรงนี้ต้องใช้เตียงไอซียูจะเห็นข้อมูลเดิม 714 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 1,206 ราย เพิ่มเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลว่า เครื่องมือ อุปกรณ์เพิ่มไม่ยาก แต่บุคลากรเพิ่มยาก และที่มีอยู่ก็เหนื่อย หลายติดเชื้อ การจะขยายเตียงเพิ่ม บุคลากรก็จะไม่ไหว จึงเป็นที่มาต้องมีการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน หลักๆต้องมีสถานที่เหมาะสม ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน โดยกรณีนี้จะเน้นความสมัครใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การแยกกักตัวที่บ้าน อยู่คนเดียว ไม่มีคนดู เราจะมีช่องทางติดตามผู้ป่วย สื่อสารทุกวันผ่านวิดีโอคอล เทเลคอนเฟอเร็นซ์ แพทย์พยาบาลจะคุยกับคนไข้วันละ 2 ครั้ง มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน สถานพยาบาล เดิมเป็นรพ. แต่จะขยายเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นให้มีการลงทะเบียน ส่วนการเอ็กซเรย์ปอดวันแรกๆจะยังไม่ทำ แต่ที่สำคัญจะมีการแจกที่วัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือดเป็นเครื่องบริเวณนิ้วมือ นอกจากนี้ เรายังมีวิธีการลุกนั่งออกกำลังกาย 1 นาที ก่อนทำขอวัดออกซิเจนก่อน พอออกเสร็จวัดอีกทีหนึ่ง หากค่าออกซิเจนในกระแสเลือดลดลงกว่า 3% ก็จะต้องมารพ. นอกเหนือจากนี้จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรณีคนไข้ที่อยู่ รพ. 10 วัน หรืออาจเป็น 7-10 วัน หากอาการดีขึ้นไม่มีอะไร จะขอให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้เตียงที่เหลือ จากเดิมอยู่ถึง 14 วัน แต่หากเป็น 7-10 วันก็จะมีเตียงเพิ่ม 40-50% รับผู้ป่วยใหม่ได้ ส่วนเรื่องชุมชน Community Isolation นั้น ขณะนี้กรมการแพทย์ กรุงเทพมหานครโรงเรียนแพทย์ได้เตรียมการสถานที่ ส่วนใหญ่เป็นวัด หรือโรงเรียน หรือแคมป์คนงาน หรือในหมู่บ้าน อาจใช้หอประชุม หรือมีที่แยกตัว แต่โดยหลักต้องไม่เกิน 200 คน ไม่เช่นนั้นจะแออัด และจะต้องดูและสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ ยังมีภาคประชาสังคมหลายส่วนเข้ามาทำ มาช่วยเรื่องนี้ และต้องขอขอบคุณภาคประชาสังคมเพจต่างๆ ทั้งเพจเส้นด้าย เพจต้องรอด เพจหมอแล็บแพนด้า และอีกหลายส่วนกำลังทำเรื่องแยกกักตัวที่บ้านเพิ่มเติม มีการรวบรวมผู้ป่วย และส่งให้กรมการแพทย์ขึ้นทะเบียน ซึ่งปกติกลุ่มเหล่านี้ดูคนไข้อยู่แล้ว โดยจะมีการจัดระบบช่วยเหลือกัน และจัดส่งอาหาร 3 มื้อให้คนไข้ถึงที่บ้าน ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนจริงๆ ทั้งภาคประชาสังคมพื้นที่ต่างๆ และเว็บเพจต่างๆด้วย

“สำหรับเกณฑ์การพิจารณารับผู้ป่วย Home Isolation ที่รพ.ราชวิถีได้ทำมาแล้วนั้น ณ ขณะนี้หากมีอาการสีเขียว ทั้งเขียวอ่อน หรือเขียวแก่สามารถอยู่ได้ แพทย์พิจารณาแล้ว มีโรคความดัน เบาหวานที่ควบคุมได้ดี เป็นต้น ทั้งนี้ รพ.ราชวิถีทำไปเกือบ 20 ราย มีผู้ติดเชื้ออายุ 70 ปี สามารถแยกกักที่บ้านจนกระทั่ง 14 วันจนหายดี ซึ่ง 20 รายแรกที่ทำเป็นไพรล็อต โดยขณะนี้กรมการแพทย์ ทั้งรพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน ได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยแล้วประมาณ 200 ราย ซึ่งรายงานอาการทุกวันผู้ป่วยดีอยู่ทั้งหมด และในส่วนของเว็บเพจต่างๆ ที่จะนำคนไข้มาขึ้นทะเบียนกับรพ.ต่างๆอีก 200 ราย และ ในส่วน Community Isolation มีอีกประมาณ 200 ราย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ Home Isolation และ Community Isolation ต้องขอบคุณสปสช. ในการสนับสนุนงบประมาณให้ทางรพ. จัดซื้ออาหาร 3 มื้อ อย่างไรก็ตาม หากท่านพบว่าท่านติดเชื้อ และยังไม่มีหน่วยงานใดรับ และคิดว่าจะเข้าเกณฑ์นี้ให้ติดต่อสอบถาม 1330 จะมีกระบวนการสอบถามซักประวัติ ขณะนี้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะขึ้นไป 400-500 รายแล้ว ข้อมูลจากเพจต่างๆ

ผู้สื่อข่าวาถามว่า Home Isolation และ Community Isolation ดำเนินการได้เมื่อไหร่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีการดำเนินการไปแล้ว ทั้งส่วนรพ. และเพจต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูล ส่วนการประเมิน ร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งตัวคนไข้จะทราบว่า เราดีขึ้นหรือไม่ หากมีภาคประชาสังคมก็จะช่วย รวมทั้งจากการวิดีโอคอล เราก็ถามคนไข้ก่อนให้ประเมินตัวเอง และทางหมอพยาบาลก็ร่วมด้วยในการประเมิน นอกเหนือจากนั้นหากค่าออกซิเจนลดตามเกณฑ์กำหนดก็จะมีระบบส่งต่อ ส่วนกรณี Community Isolation ขณะนี้มีทำไปแล้วที่วัดสะพาน ส่วนการประเมินจะมีคนกลางมาช่วย อาจเป็นอาสาสมัครของกทม.เป็นผู้ประเมินร่วมกับคนไข้ และจะมีทีมแพทย์ประเมินผ่านเทเลเมดิซีน ดังนั้น ผู้ประเมินจะมีทั้งผู้ป่วย ทีมแพทย์พยาบาล และอาสาสมัคร

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  สบส.แจ้งรพ.เอกชนตรวจโควิด Rapid Antigen Test พร้อมแนวทางส่งต่อระบบแยกกักที่บ้าน)