ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชฯ ห่วงไทยโควิดเดลตาเพิ่ม! ต้องเร่งบริหารจัดการวัคซีน ยิ่งบุคลากรทางการแพทย์หากติดเชื้อจะกระทบระบบสุขภาพ เผยข้อมูลวิชาการ “บูสเตอร์ โดส” กระตุ้นภูมิคุ้มกันพบกลุ่มไวรัลแวกเตอร์ และmRNA กระตุ้นภูมิฯดี ส่วนคนที่รอฉีดวัคซีนทางเลือก หรือ โมเดอร์นา ห่วง! ระหว่างรอ อาจไม่ทันสายพันธุ์เดลตาจู่โจม!

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ขณะนี้ต้องมองในอนาคต โดยพิจารณาวัคซีนรุ่น 2 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี ดังนั้น จึงต้องมีการเจรจา ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ ในต่างประเทศมีการศึกษา และประเทศไทยตอนนี้ก็มีการศึกษาจาก 4-5โรงเรียนแพทย์เช่นกัน และคาดว่าผลจะออกมาในเร็วๆนี้ โดยศิริราชก็มีการศึกษาวิจัยเช่นกัน เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว ทางฝ่ายนโยบายก็ต้องมาพิจารณา ทั้งการจับคู่วัคซีนที่ดีกับคู่ที่มี ว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร

เมื่อถามกรณีการฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์และยังพบผลข้างเคียงและมีบางรายเสียชีวิต ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูตัวเลขคนฉีดวัคซีนทั้งหมดเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนที่ผ่านมาในอินโดนีเซีย มีคนกว่า 300 กว่าคนติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนแล้ว โดยมีหมอเสียชีวิต 401 คนข้อมูลสัปดาห์ที่สามของเดือนมิ.ย. และพบว่ามี 14 คนฉีดวัคซีนครบ ดังนั้น กว่า 300 คนฉีดไม่ครบ หรือไม่ได้ฉีด แสดงว่า วัคซีนจะลดความรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิตได้ สำหรับประเทศไทยบุคลากรในระบบสุขภาพทั้งหมดมีประมาณ 7 แสนกว่าคน เราต้องเอาตัวเลขมาดูว่า คนที่รุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ และเทียบกับคนทั่วไป ต้องเอาข้อมูลมาพิจารณาทั้งหมด

“เท่าที่ทราบนโยบายของประเทศตอนนี้ไม่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องเสี่ยง จึงต้องการให้ได้รับวัคซีนทั้งหมด โดยบุคลากรด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในทรัพยากรสุขภาพ หากติดเชื้อ คนดูแลผู้ป่วยก็น้อยลงด้วย นี่คือปัจจัยสำคัญต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงเพิ่มเติมอีก และแนวคิดนี้จะขยายวงต่อเมื่อมีวัคซีนมากพอ ซึ่งระยะเวลาอันใกล้นี้เดลตาจะเพิ่มเป็น 80-90% เหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งบางประเทศเริ่มพูดว่า น่าจะเพิ่มความรุนแรงด้วย จึงต้องเร่งบริหารวัคซีนให้มากและฉีดให้เร็ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดข้อมูลในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไฟเซอร์ ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่า อยากให้คนอเมริกันฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 แต่รัฐบาลดูข้อมูลหมดได้ยับยั้งไม่ให้ฉีดเข็ม 3 เพราะคนอเมริกันอีก 40 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว หลักการเดียวกันในประเทศไทย ความเห็นตนต้องบริหารสองอย่างคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีด และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องได้รับการฉีด อย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการ ส่วนจะใช้คู่ผสมใดนั้น ก็ต้องดูข้อมูลวิชาการ และในสต็อกมีในการบริหารจัดการแค่ไหน ขณะเดียวกันมาตรการสังคม มาตรการด้านสาธารณสุขก็ต้องทำเช่นกัน ทั้งนี้ ตนเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการมีวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีวัคซีนมาเติมได้ทันกับเวลา

เมื่อถามกรณีบุคลากรทางการแพทย์ อยากบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือก ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการพิจารณา หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลแวกเตอร์ทำงานได้ดีมาก และแม้แต่ชนิด mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา ขณะเดียวกันเราก็มีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรอก ขอให้อยู่ในกลุ่มพวกนี้ อันนี้เฉพาะการฉีดกระตุ้นของเข็มที่ 3 เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีประเทศไทนมีการศึกษาวัคซีนไขว้แบบชนิดเชื้อตาย กับ mRNA มีความปลอดภัยหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆก็มี แต่ละประเทศก็จะจับสองจุดว่า เมื่อไขว้แล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มออกมาแนวเดียวกัน คือ มีแนวโน้มระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นและปลอดภัย ข้อมูลตอนนี้มีเท่านี้ โดยการศึกษาเป็นหลัก 100 คน บางงานไม่ถึงด้วยซ้ำ โดยรวมจึงเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองให้ไขว้ อยู่ที่ประเทศพิจารณาความจำเป็นและ ข้อมูลที่มีอยู่

เมื่อถามถึงกรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือก หรือโมเดอร์นา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลตา ก็อาจไม่ทัน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-“หมอประสิทธิ์” เผยต้องติดตามโควิดผสมสองสายพันธุ์ในคนเดียว เหตุข้อมูลยังมีน้อย!

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org