ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนโควิดฯ ประชุมสัปดาห์หน้า! พิจารณากรณีข้อเสนอยกเลิก “วัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีน” เหตุมีแพทย์บางท่านระบุ การวัดความดันก่อนฉีด ทำให้หลายคนพลาดรับวัคซีน เพราะมีข้อบ่งชี้ว่าความดันสูงเกิน ทั้งที่อาจมาจากกลัวการฉีด ฯลฯ ด้าน “หมอโสภณ” ส่วนตัวมองว่าไม่ควรยกเลิก เพราะหลายคนไม่รู้ตัวมีภาวะความดันสูง ทำให้ทราบและเข้าสู่การรักษาได้ทัน ขอรอความชัดเจนประชุมสัปดาห์หน้า!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในบุคลากรทางการแพทย์หน้างานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน เนื่องจากกรณีก่อนหน้านี้มีแพทย์ออกมาให้ความเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องวัดความดันโลหิตก่อนการฉีดวัคซีน เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาหลายคนมาฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้ฉีด เนื่องจากความดันเกิน ทั้งๆที่อาจเกิดจากความตื่นเต้น กลัวการฉีดวัคซีน บางคนที่มีความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้ทานยาตามปกติ ความดันจึงขึ้น ซึ่งมีความเห็นว่าไม่มีระดับความดันโลหิตที่ห้ามฉีดวัคซีนโควิด จนบุคลากรหน้างานที่ฉีดวัคซีนเกิดคำถามว่า ข้อเท็จจริงควรต้องยกเลิกการวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีนหรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2564 นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) กล่าวถึงกรณีการพิจารณาการวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เรื่องนี้จะมีการนำเข้าสู่การประชุมอนุกรรมการอำนวยการฯ ที่ตนเป็นประธานในสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากทางสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เห็นว่า สามารถวัดความดันโลหิตก่อนการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีเดียวที่ให้พิจารณาเลื่อนการฉีดออกไป คือ กำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤต

นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเด็น คือ เราต้องสื่อสารข้อมูลให้โรงพยาบาล บุคลากรที่ให้บริการฉีดวัคซีน และประชาชนทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ไม่ต้องงดยาลดความดันก่อนฉีดวัคซีน และคนที่มีความดันโลหิตสูงก็สามารถฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤต ที่มีอาการอื่นแสดงร่วมด้วย สังเกตจากอาการหอบเหนื่อย ซึม ชัก หรือไตวายเฉียบพลัน ซึ่งต้องเข้าไอซียู ดังนั้น ความดันโลหิตสูงจึงสามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะไม่ได้มีการกำหนดค่าระดับว่า ความดันโลหิตสูงระดับใดห้ามฉีด

“ส่วนตัวไม่เห็นว่า ต้องถึงกับยกเลิกการวัดความดันโลหิต ก่อนฉีดวัคซีน เพราะจริงๆมีประโยชน์ 1. เราได้ข้อมูลค่าความดันโลหิตของประชาชนที่มาฉีดวัคซีน ซึ่งมีประโยชน์มากในการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว เช่น หากใครมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน หรือ 30 วัน เราก็สามารถย้อนดูข้อมูลก่อนฉีดวัคซีนโควิดได้ว่า มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาประกอบการพิจารณาได้หมด” นพ.โสภณ กล่าว และ ว่า  2.กรณีคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อมาวัดความดันก่อนฉีดวัคซีน ทำให้ทราบ และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ตรงนี้มีการรวบรวมตัวเลขอยู่ ซึ่งมีจริง หลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง แต่เมื่อมาวัดก่อนฉีดวัคซีน กลับทราบและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทัน ข้อดีคือ เป็นการป้องกันปัญหาเกิดหลอดเลือดสมองในอนาคตจากภาวะความดันโลหิตสูงได้

เมื่อถามว่าต้องรอผลการประชุมพิจารณาอนุกรรมการฯ ก่อนใช่หรือไม่ว่า จะยกเลิกหรือคงการวัดความดันโลหิตสูงก่อนฉีดวัคซีน นพ.โสภณ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีการยกเลิกการวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีน เพราะเรื่องนี้ต้องคิดดีๆ เนื่องจากหากปัญหาอยู่ที่ว่าค่าความดัน ก็ต้องมาดูคำนิยาม ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเดิมครั้งแรกกำหนดว่า การวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีน ไม่ควรเกิน 160 มิลลิเมตรปรอท หากเกินต้องควบคุมให้ดีก่อนจึงกลับมาฉีด ดังนั้น ในที่ประชุมก็จะมีการพิจารณาหารือทางออกเรื่องนี้

ข่าวเกี่ยวข้อง : ผู้เชี่ยวชาญเห็นชอบ “ยกเลิกตรวจความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีน” ลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการวัคซีนโควิด-19