ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ย้ำ! ไม่มีความขัดแย้งระหว่าง กทม. และสธ. เพียงแต่ตีความไม่ตรงกัน เผย คร.จัดสรรวัคซีนโควิดให้กรุงเทพมหานครต่อเนื่อง ตามข้อมูลที่ได้ประสานมา ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า กรุงเทพฯ ได้วัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จนถึง 27 ก.ค. 2564 ได้รับวัคซีนรวม 5.7 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้ามากที่สุดกว่า 3.3 ล้านโดส รองลงมาซิโนแวค 2.3 ล้านโดส

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นการบริหารวัดซีนโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยภายหลังการประชุมมีรายงานข่าวว่า เกิดข้อทักท้วงโยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งที่ประชุมว่า กทม.เพิ่งจะได้รับวัคซีนจากกรมควบคุมโรคเพียง 7 แสนโดส โดย 5 แสนโดสเพิ่งได้รับไม่นานมานี้ ขณะที่กรมควบคุมโรคได้แจ้งว่า มีการส่งให้ทางกทม.ต่อเนื่องมาตลอด ไม่ใช่แค่ 7 แสนโดส กระทั่ง พล.ต.อ.อัศวิน แสดงความไม่พอใจกรมควบคุมโรคนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ภายหลังที่มีการประชุมหารือเมื่อวานนี้(27ก.ค.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ไม่ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร เพียงแต่เกิดการตีความที่ไม่ตรงกัน

“ทางกรมควบคุมโรค โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่ามีการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดไปที่ กทม. ตามข้อมูลที่ได้ประสานมา จากนั้น ทางพื้นที่ จะต้องไปจัดสรรจำนวนที่ต้องส่งมอบตามหน่วยงาน และตามพื้นที่ต่างๆ และต้องจัดสรร ไว้สำหรับคนที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ไปจนถึงการฉีดในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ด้วย เรื่องมีอยู่เท่านี้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การกระจายวัคซีนจะมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นผู้พิจารณาและรับทราบข้อมูลทั้งหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมเมื่อวานนี้ ไม่คิดว่าเป็นปัญหาระหว่างกัน พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วก็คุยเข้าใจกันดี เชื่อว่าทุกคนแบกความเครียดเหมือนกันหมด ก็ขอให้เดินหน้าทำงาน กันต่อ ปัญหาเมื่อวานนี้ เป็นเรื่อของการทำงาน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดต่างก็มีความต้องการวัคซีนให้ได้มากที่สุด ซึ่งทาง ศบค. ก็เป็นผู้จัดสรรแผนการกระจายวัคซีนออกไป โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับมาปฏิบัติ ส่งวัคซีนออกไปตามที่ ศบค.กำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทำไมยังเกิดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามความจำเป็นของพื้นที่ สัดส่วนประชากร อย่างเช่นที่ สธ.กำหนดว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค. ต้องฉีดให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งนโยบายก็จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การสู้กับโรค ต้องปรับตามสถานการณ์อยู่ตลอด

เมื่อถามถึงภาพความแออัดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อวานนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงเวลานั้น ให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก เพราะเราต้องเร่งฉีดกลุ่มดังกล่าวให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ จึงเปิดให้บริการแบบวอล์ค อิน เข้ามา โดยจะเปิดให้บริการถึง 31 ก.ค. ซึ่งประชาชน มารับบริการเป็นจำนวนมาก แต่ในเดือน ส.ค. จะเป็นการฉีดให้ประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทะเบียนเพื่อจองวันรับวัคซีนตามปกติ ความแออัดก็จะลดน้อยลง แต่สำหรับผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปีก็ยังสามารถ เข้ามารับวัคซีนได้เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด

“ขอย้ำว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อเก็บตกผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจากกลุ่มต่างๆ บุคลากรสาธารณสุขที่เข้าไปช่วยเหลือ ต่างทำงานกันอย่างเต็มที่ ตรงนี้ ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงาน”

แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า สำหรับข้อมูลการจัดสรรวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการส่งให้ทางกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จนถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564 รวมแล้วได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5,757,255 โดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2,376,125 โดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 3,381,130 โดส

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะ เดือน ก.ค.64 พื้นที่ กทม. ได้รับวัคซีนทั้งหมด 2.07 ล้านโดส โดยข้อมูลนี้เป็นจำนวนจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่หมดเดือน เพราะจะมีการทยอยส่งวัคซีนไปเพิ่มเติมอีกในสัปดาห์นี้

1.สำนักงานประกันสังคม 0.21 ล้านโดส

2.อว./ทปอ. ในเดือนนี้ยังไม่ได้รับเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการนำวัคซีนไปฉีดในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ

3.สำนักอนามัยกรุงเทพฯ 1.20 ล้านโดส

4.อื่นๆ 0.16 ล้านโดส

5.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ 0.49 ล้านโดส

"โดยตัวเลขที่จัดสรรจะเป็นไปตามการหารือของทางพื้นที่นั้นๆ คือ กทม.หรือจังหวัดนั้นๆ ที่ส่งตัวเลขเข้ามาที่ทางกรมควบคุมโรค  จากนั้นจะมีการพิจารณาร่วมกันทั้งของ ศบค. และกรมควบคุมโรค รวมทั้งพื้นที่ เมื่อได้ตัวเลขก็จะจัดสรรลงไป จากนั้นเมื่อพื้นที่ได้รับวัคซีนแล้วก็จะนำไปกระจายและจัดสรรวัคซีนกันเอง" แหล่งข่าวฯ กล่าว