ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แจงข้อเท็จจริง! กรณีอาสาสมัคร “บังซา” ไลฟ์สด ชี้ไม่ได้ไล่ แต่ครบกำหนดรักษาตามแนวทางกรมการแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้น 7 วันสามารถกลับไปกักตัวรักษาที่บ้าน เพื่อให้เตียงแก่ผู้ป่วยรายอื่น

จากกรณีอาสาสมัคร "บังซา" ที่ไลฟ์สดใน รพ.บุษราคัม ซึ่งภายหลังบังซา ระบุว่าตนถูกเชิญออกจากรพ. จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์นั้น

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 31 ก.ค.2564   นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในการแถลงข่าวประเด็น “UPdate การให้บริหาร รพ.บุษราคัม” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า เจ้าหน้าที่ต้องขอขอบคุณที่มีการสะท้อนแง่มุมภาระงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ดูและฟังจากไลฟ์ก็ไม่ได้เห็นว่ามีการตำหนิเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการนำเสนอมีการใช้คำพูดอาจรุนแรงออกไปทางสื่อ

“ดูแล้วก็ไม่น่ามีเจตนาอะไร เพราะเจตนาเขาอยากช่วยคนไข้อยู่แล้ว ทั้งช่วยหลือคนไข้กลุ่มเปราะบาง ดูแลคนไข้ต่างๆ เข็นคนไข้ที่สูญเสีย ซึ่งท่านทำหน้าที่โดยสุจริต ทางรพ.ขอขอบคุณอย่างมาก ที่ท่านแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ของเรา เพียงแต่ว่าในส่วนการถ่ายทำ ตามปกติแล้วจะมีเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ซึ่งหากกระทำได้ต้องมีการขออนุญาตผู้ป่วยและทางรพ. ซึ่งเป็นวิธีการปกติตามกฎหมาย ส่วนที่เขาต้องออกจากรพ. ก็เป็นไปตามแนวปฏิบัติกรมการแพทย์ ซึ่งยึดถือปฏิบัติทั่วประเทศเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่อาการดีขึ้น” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ต้องออกจาก รพ. เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ที่ผู้ป่วยอยู่ครบ 7-8 วันแล้วก็สามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ เตียงมีความสำคัญมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นที่รอเตียงเข้ามา ดังนั้น การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเฉพาะผู้ไลฟ์สด แต่เป็นการปฏิบัติตามปกติในการดูแลผู้ป่วย โดยในส่วนตัวผู้ที่ไลฟ์สดนั้นก็เป็นที่รักใคร่ของเจ้าหน้าที่ด้วย

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ อนุญาตให้ผู้ป่วยอาการน้อย รักษาอยู่ที่ รพ. อย่างน้อย 7 วันและวันที่ 8 ต่อไปสามารถกลับไปรักษาตัวเองที่บ้านได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดสูง เนื่องจากจะต้องใช้เตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยอาการน้อยที่ไม่รุนแรง เมื่อติดเชื้อครบ 7 วัน โดยทั่วไปของโรคอาการจะไม่รุนแรงขึ้น อาการจะดีขึ้น ซึ่งสามารถกลับบ้านไปกักตัวต่อได้ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากอาจเจอซากเชื้อได้ ที่เมื่อตรวจก็จะพบว่ามีผลบวกอีก ทั้งนี้ เราจะให้ใบรับรองแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีการรักษาในโรงพยาบาลครบกำหนดแล้ว

"ทางโรงพยาบาลยินดีรับคำติชมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วย ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเจตจำนงของเรา แต่ในส่วนของพ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยทั่วไปแล้วถือว่าพื้นที่ในรพ.บุษราคัม เป็นโรงพยาบาล ดังนั้น การถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะภาพผู้ป่วย ภาพเจ้าหน้าที่ในระหว่างการปฏิบัติงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิ แม้กระทั่งผู้ป่วยถ่ายภาพผู้อื่นภายใน รพ.เอง ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับ รพ.ทั่วไป” ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าว

เมื่อถามว่าทางรพ.บุษราคัม มีการสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และไม่เกิดความเข้าใจผิด นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รพ.บุษราคัม รักษาคนไข้มาเกือบ 1.3 หมื่นคน มีคนไข้กลับบ้านไป 9 พันคน โดยปกติวิธีการสื่อสารของเราจะมีเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เข้าไปวันละ 5 เวลา เข้าไปเป็นช่วงๆ ไปดูแลผู้ป่วยที่ต้องการให้ยา จำเป็นต้องได้รับการดูแล เราเข้าไปโดยตรง ส่วนคนไข้อาการไม่หนัก ก็จะมีการดูแลผ่านเทเลเมดิซีน มีจอทีวีกระจายทั่วบริเวณสามารถดูผู้ป่วยเป็นรายๆ ผ่านการสื่อสารทางโทรศัพท์ ซึ่งผู้ป่วยทุกคนจะมีเบอร์เจ้าหน้าที่ดูแล ประกอบกับในแต่ละกรุ๊ปจะมีผู้ใหญ่บ้านหรือจิตอาสาที่คอยดูแลแต่ละหน่วย สามารถแชทไลน์ เห็นหน้าได้ เมื่อเกิดอาการฉุกเฉินก็ติดต่อได้ทันที 

“ทุกวันนี้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วยังส่งข้อมูลมาขอบคุณ บางคนกลายเป็นเพื่อนกันเลย ซึ่งจริงๆแล้วมุมมองของคนไข้ต่อรพ.บุษราคัม เขามองว่ารพ.เป็นที่พึ่งของพวกเขา โดยคนไข้ส่วนใหญ่ 80-90% ไม่มีที่ไปตามระบบแล้ว เพราะไม่มีเตียงรักษา ยิ่งก่อนจะมีระบบการรักษาที่บ้าน ( Home Isolation) และชุมชน ( Community Isolation)” ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสื่อมวลชนถือเป็นพื้นที่สำคัญในการสื่อสาร แสดงข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ตามสมควรที่ถูกต้อง ในสถานการณ์ที่มีความระบาดรุนแรงของโรคระบาดที่กระทบไปทั้งประเทศ ทั้ง สังคม เศรษฐกิจ กระทบไปหมดทุกคน การทำมาหากิน การล้มเหลวทางธุรกิจ ทุกคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จึงอยากวิงวอนสื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยสื่อสารในเชิงบวก ซึ่งเรารับฟังคำติชม หากพบประชาชนเดือดร้อน สื่อมวลชนสามารถแจ้งมายังรพ.ได้ หากเราทำได้มีกำลังเราช่วยเสมอ อย่างไรก็ตาม จากนี้เราจะเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจในสัปดาห์หน้า เพื่อสื่อสารถึงสถานการณ์ของรพ.บุษราคัมทั้งหมด และจะมีการอัปเดทสถานการณ์ต่างๆ ของรพ.บุษราคัมทุกๆช่วง 1-2 สัปดาห์

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ผอ.รพ.บุษราคัม เผยเล็งจ่ายค่าตอบแทนจิตอาสาหายป่วยโควิด แต่สมัครใจช่วยแบ่งเบางานบุคลากร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง