ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ส่งหนังสือถึง “บิ๊กตู่-อนุทิน-สาธิต-หมอเกียรติภูมิ” พร้อมผู้บริหารสธ.และผู้เกี่ยวข้อง ขอความเป็นธรรมให้ผู้ปฏิบัติงาน เสนอ 6 ข้อเรียกร้อง ขอเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์สำหรับด่านหน้า-ลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน-ขยายแผนบรรจุข้าราชการ- สานต่อประกันโควิดและระเบียบการเยียวยาฯลฯ”

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายริซกี สาร๊ะ แกนนำสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าวว่า สมาพันธ์ฯได้ยื่นข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจ สำหรับนักสาธารณสุขที่เป็นบุคลากรด่านหน้าและปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบงานบริหารทรัพยากรบุคคล กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังส่งถึงเลขาธิการ สำนักงานกพ. ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา

นายริซกี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องมาจากบุคลากรด่านหน้า และปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิดระบาดอย่างหนักมาหลายระลอก ทั้งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ รวมทั้งการปฏิบัติงานใน รพ.สนาม และสถานสังเกตอาการระดับต่างๆ มีการปฏิบัติงานเชิงรุกในชุมชน เช่น การลงพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อ การค้นหา การติดตามอาการของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ มีการสอบสวนโรค การดำเนินการทางระบาดวิทยา รวมถึงต้องรองรับนโยบาย home isolation และ Community isolation ในกรณีที่คนไข้ล้นโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม

ยังมีการวิเคราะห์สถานการณ์โรค การเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานของอสม. การปฏิบัติจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่นการจัดการขยะติดเชื้อ การบำบัดน้ำเสียในสถานพยาบาล รพ.สนาม สถานสังเกตอาการ การตรวจโรงเรียน ศาสนสถาน สถานประกอบการ สถานบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีแรงงานไทย และต่างด้าว รวมทั้งการดำเนินงานตามมาตรการ Bubble & Seal ในสถานประกอบการและสถานศึกษา

นายริซกี กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ พบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่สะสม มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนจะมีการระบาดของโรคโควิด จนกระทั่งมีการระบาดหลายระลอก สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ในฐานะตัวแทนนักสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค จึงขอยื่นข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจ สำหรับนักสาธารณสุขที่เป็นบุคลากรด่านหน้าและปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ดังต่อไปนี้

1.การจัดสรรวัคซีนคุณภาพและวัสดุอุปกรณ์อย่างทั่วถึง

1.1 ขอให้บุคคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพและวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างครอบคลุม ทั่วถึง

1.2 ขอให้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สำหรับบุคลากรด่านหน้า อย่างเพียงพอเช่น หน้ากากอนามัย N95 ถุงมือยาง เครื่องวัดoxygen sat ชุด PAPR และ ยาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่ รพ.สต จนถึงหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ รวมถึง รพ.สนาม และสถานสังเกตอาการ ทุกแห่ง

1.3 สนับสนุนบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขให้สามารถจ่ายยา สมุนไพรไทย และส่งเสริมการปลูกสมุนไพรไทย เพื่อรักษาอาการหวัดเบื้องต้นได้

 

2.คำนึงถึงความก้าวหน้า

2.1 กำหนดตำแหน่งใหม่ของผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นวิชาชีพด้านสุขภาพที่ทำงานด่านหน้าอย่างเข้มแข็ง ภายในปีงบประมาณ 2564

2.2 ปรับเจ้าพนักงานสายงานทั่วไป ที่มีวุฒิปริญญาตรี หรือมีใบวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปรับสู่สายงานวิชาการ เป็นกรณีพิเศษ

2.3 ปรับข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้ สายงานทั่วไประดับชำนาญงาน ทุกตำแหน่งในทุกกระทรวง สู่แท่งวิชาการ ระดับชำนาญการ ตามหลักเกณฑ์ กพ. ว.16/2558

 

3.ลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน

3.1 ปรับปรุงระเบียบค่าตอบแทนวิชาชีพ ให้ได้รับครอบคลุมทุกวิชาชีพ

3.2 ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราค่าตอบแทน ฉ.11-12 สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน และให้ครอบคลุมบุลากรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3.3 ปรับปรุงระเบียบเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงาน ด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ให้ครอบคลุม ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน

3.4 ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ระเบียบเกี่ยวกับ ผอ.รพ.สต(สายงานนักวิชาการสาธารณสุข) ที่มีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และสิทธิต่างๆสำหรับ ทัดเทียม ผอ.รพ.สต(สายงานพยาบาล)

3.5 ขยายหลักเกณฑ์ และอัตราค่าตอบแทน ฉบับที่ 10ชายแดนใต้ ให้ครอบคลุมวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ความไม่สงบเช่นเดียวกับ 4 วิชาชีพเดิม ที่ได้รับค่าตอบแทน ฉบับที่ 10ชายแดนใต้

แฟ้มภาพจากสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้

4.ขยายแผนบรรจุข้าราชการ

4.1 เสนอให้บรรจุลูกจ้างทุกประเภทที่เป็นคนทำงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในปีงบประมาณ 2565

4.2 แก้ไขหลักเกณฑ์ ลูกจ้างที่จ้างต่ำกว่าวุฒิ หรือปฏิบัติงานตรง 24 สายงาน แต่ชื่อตำแหน่งไม่ตรงตามตำแหน่งข้าราชการ ที่ยังไม่ได้บรรจุตามมติครม.ปีงบประมาณ 2563 ให้ได้บรรจุภายในปีงบประมาณ 2564

 

5.สานต่อประกันโควิดและระเบียบการเยียวยา

5.1 ดำเนินการจัดทำกรมธรรม์ในวงเงินที่เหมาะสม แก่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

5.2 ปรับปรุง ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ได้รับความเสียหาย จากการให้บริการสาธารณสุข พศ.... ให้ได้รับการปูนบำเหน็จเช่นเดียวกับตำรวจและทหาร ในกรณีที่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด/กรณีที่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขบาดเจ็บ พิการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้/และกรณีที่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขบาดเจ็บ พิการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

5.3 การคืนอายุราชการ จากการทดลองควบคุมกำลังคนภาครัฐที่ผิดพลาด โดยการให้ตำแหน่งพนักงานของรัฐแก่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขหลายวิชาชีพที่จบในปี 2543-2547 ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ที่ไม่มีหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน แม้จะมีการยกเลิกตำแหน่งพนักงานของรัฐในภายหลัง แต่ก็ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนที่ได้รับการบรรจุก่อนปี 2543 และคนที่ได้รับการบรรจุหลังปี 2547 เนื่องจากส่งผลให้อายุราชการของบุคลากรกลุ่มนี้ขาดหายไปหลายปี รวมทั้งกระทบขวัญกำลังใจและบำเหน็จบำนาญของบุคลากรกลุ่มนี้ในอนาคตด้วย

แฟ้มภาพจากสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้

6.สรรหาตำแหน่งชำนาญการพิเศษ

6.1 เร่งรัดการดำเนินงานสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ของสายงานวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ปรับตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ในช่องทางทักษะพิเศษ(วิจัย R&D)

6.2 จัดสรรการปรับตำแหน่ง ผอ.รพ.สต ชำนาญการ สู่ผอ.รพ.สต ระดับชำนาญการพิเศษทุกแห่ง

6.3 ร่างหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการสาธารณสุขระดับชำนาญการทุกตำแหน่งที่ปฏิบัติงานจนถึงอายุ 53 ปี ให้เข้ารับการอบรมเพื่อปรับตำแหน่ง ชำนาญการพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ เช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org