ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งฝึกอบรม อสม.นักวิทย์ 5 พันคนทั่วประเทศ ให้เป็นพี่เลี้ยงสอนวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองแก่ประชาชน  พร้อมร่วมสภาอุตสาหกรรมอบรมการใช้ ATK แก่พนักงานโรงงานแล้วกว่า 2,000 แห่ง 

 

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ที่ ศบค.เห็นชอบ คือ มาตรการ COVID Free Setting ซึ่งจะต้องมีการทยอยฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่กำหนด ประชาชนต้องใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดตลอดเวลา หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการองค์กรเพื่อป้องกันการติดเชื้อจำนวนมาก และ

การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ซึ่งจากนี้ไปจะมีการตรวจด้วยตนเองจำนวนมาก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากตรวจทุก 3-5 วัน และผู้มีความเสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องตรวจอย่างถูกต้อง แปลผลถูกต้อง เพื่อดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม เช่น หากผลบวกดำเนินการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือเข้ารับการแยกกักที่ชุมชน (Community Isolation) หากผลเป็นลบต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วันหรือมีอาการ เป็นต้น และมีการจัดการขยะติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงดำเนินการฝึกอบรม อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม.นักวิทย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและสอนวิธีใช้งานชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองให้แก่ประชาชน และร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจัดอบรมการใช้ ATK ที่ถูกต้องให้แก่พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์ กว่า 2,000 แห่ง โดยสอนการจัดการขยะติดเชื้อ ช่วยแปลผล ให้คำแนะนำ ช่วยลงผลตรวจ และช่วยประสานระบบการดูแลรักษา 

รวมถึงสามารถดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลในการวางแผนการเข้าถึงชุดตรวจของประชาชน ช่วยแจกจ่ายชุดตรวจ สนับสนุนการเฝ้าระวังในพื้นที่ คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน และช่วยติดตามการตรวจหรือต่อเนื่องในกลุ่มที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามมีการนำร่องฝึกอบรมโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จ.พิษณุโลกแล้ว และจะขยายการฝึกอบรม อสม.นักวิทย์ 5 พันคนทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์ 

ทั้งนี้ กระบวนการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การให้ความรู้ ทั้งแนวทางและข้อควรระวังการใช้ชุดตรวจ ATK วิธีการใช้ชุดตรวจด้วยตนเอง การอ่านและแปลผล การลงข้อมูลผลการตรวจ การปฏิบัติตนหลังทราบผล การสวมและถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล และการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยมีการประเมินความรู้เบื้องต้นโดยแบบทดสอบ และ 2.การฝึกปฏิบัติภาคสนาม ทั้งในพื้นที่ ตลาดสด และชุมชน ฝึกให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในชุมชน เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ร่วมตรวจ ATK ในกลุ่มเปราะบาง ฝึกลงข้อมูลผลตรวจในแอปพลิเคชัน ประเมินทักษะโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และยังมีการจัดทำคู่มือเพื่อประกอบการดำเนินงานให้แก่ อสม.ด้วย