ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สะท้อนการใช้เทคโนโลยี ในยุคโควิด สู่ความก้าวหน้า-หรือสร้างความเหลื่อมล้ำ ชี้ทางออกด้วยวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี กับความเป็นธรรมในสังคม”

การระบาดของโควิด-19 นับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) แต่ละประเทศต่างมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือช่วยลดการแพร่ระบาด การป้องกัน ตลอดจนถึงการรักษา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เนื่องจากขาดทรัพยากร ขาดความรู้ หรือความพร้อมในด้านกายภาพ ตลอดจนศักยภาพทางร่างกาย เช่น ข้อมูลงานวิจัยของ Sutton Trust และ Teacher Tapp ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม แสดงให้เห็นว่ามีเพียงจำนวน 10 เปอเซนต์ของโรงเรียนทั่วประเทศ ที่รายงานว่านักเรียนทุกคนมี Laptop ยิ่งไปกว่านั้น เด็กในประเทศอังกฤษกว่า 1.78 ล้านคน ขาดการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น tablet laptop desktop เป็นต้น และยังมีเด็กอีกกว่า 880,000 ราย ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีเพียงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเท่านั้น (ความเหลื่อมล้ำดิจิตัลในเมืองมหานครกับความท้าทายในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้: nia.or.th/InnovationinProcurement[CV1] )1 [CV2] ซึ่งทำให้ในหลายประเทศต่างออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างทางด้านดิจิทัลไปพร้อมกับการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในมิติของความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเปราะบาง ในหัวข้อ “เทคโนโลยี ลดหรือขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ในสถานการณ์โควิด” ซึ่งเป็นประเด็นจากงานวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม” ภายใต้แผนดำเนินงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าแผนงานวิจัยฯ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของทุกงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน คือ การพัฒนาความรู้และหลักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงและตอบโจทย์การแก้ปัญหา และอุดช่องว่างของปัญหาในมิติต่างๆ ของกลุ่มคนเปราะบางในสังคม เช่น เด็กต่างด้าว คนจนเมือง กลุ่มคนชายขอบ ครูข้างถนน คนขับแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตของโรคโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีผลต่อหลายๆ เรื่อง โดยเวทีเสวนาจะเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับ 3 เรื่องหลักๆ คือ วัคซีน การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนจนเมือง และการเรียนระบบออนไลน์กับผลกระทบกับเด็กๆ ในครอบครัวคนจน โดยวิเคราะห์ควบคู่ไปกับแนวคิดทางด้านปรัชญาจากงานวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดประเด็นเรื่องวัคซีนในสถานการณ์โควิดว่า วัคซีนโควิดเป็นเทคโนโลยีเร่งด่วน ที่ถูกพัฒนาโดยใช้ระยะเวลาสั้น เนื่องจากต้องนำมาใช้ในสถานการณ์วิกฤต แต่ส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งวัคซีนจะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้น จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างในคุณสมบัติของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ นอกจากนี้วัคซีนยังมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจการเมือง ระบบบริการสุขภาพ การสื่อสาร สิทธิบัตร กลไกราคา โครงสร้างสังคม การขึ้นทะเบียน การคัดเลือกรายการวัคซีน การจัดหา การกระจาย เกณฑ์การฉีดวัคซีน รวมไปถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลต่อการเข้าถึงวัคซีน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น กรณีวัคซีนที่ต้องมีการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อการเข้าถึงวัคซีน อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้กับประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้ออนไลน์เทคโลยี ซึ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับวัคซีนที่เหมาะสม ตามเวลาที่สมควร อาจเสี่ยงต่อการ
ติดเชื้อ และมีโอกาสป่วยรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้

ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า คนจนเมืองในที่นี้ เรามองบริบทความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก กรณีคนจนเมือง นอกจากคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัดเดิมที่มีอยู่แล้ว ยังมีคนจนใหม่ที่เป็นกลุ่มคนทำมาหากินรายวัน และประชากรแฝง เช่น แรงงานต่างด้าวที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนและไม่มีเอกสารรับรองใดๆ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและจนโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีสุขภาพ เห็นได้จาก ถ้าคนที่ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟน จะไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ ตั้งแต่การลงทะเบียนรับวัคซีน การรับเงินเยียวยาด้านต่างๆ การรับบริการสุขภาพผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น การดูแลสุขภาพทางไกล การแยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ฯลฯ และจากการลงพื้นที่พบว่า ชุมชนมีศักยภาพ และคนจนมีพลังในการต่อสู้ เพียงแต่มีต้นทุนจำกัด และเข้าไม่ถึงระบบข้อมูล ซึ่งการควบคุมโรคในชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ชุมชนช่วยกันติดตามดูแลกันเอง เช่น การทำศูนย์พักคอยในชุมชน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ระดมช่วยเหลือกันในชุมชน ซึ่งการสร้างภูมิต้านทานโรค ไม่ได้มีแค่เรื่องวัคซีนเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ ด้วย

ดังนั้นเทคโนโลยีไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีที่รับบริการจากรัฐเท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีจากรัฐส่วนใหญ่บางครั้งอาจเป็นข้อจำกัดไม่ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้วยซ้ำ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ แต่ยังมีเทคโนโลยีทางสังคมอีกมากที่มีประโยชน์จริง ทั้งนี้เราอาจมองเรื่องโควิด-19 เป็นแค่เรื่องโรคเท่านั้น จนทำให้บดบังความต้องการที่แท้จริงของผู้คน ซึ่งหลักการทางปรัชญาและจริยศาสตร์ที่งานวิจัยได้เสนอไว้นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดความรู้ วางแผน และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้คนได้

คุณครูร่มเกล้า ช้างน้อย โรงเรียนวัดดุสิตาราม ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การสอนในช่วงสถานการณ์โควิด ว่า ท่ามกลางปัญหาก็เป็นการสร้างโอกาส รูปแบบการสอนออนไลน์ทำให้ระบบการศึกษาต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง และทำให้เห็นว่าคุณครูควรมีการปรับวิธีคิดและรูปแบบการสอนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและทำให้เด็กมีความไว้ใจ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เช่น การเรียนโดยไม่ต้องเปิดกล้อง การตั้งให้มีแนวคิด (mindset) เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ว่าเป็นเรื่องปกติและต้องใช้การเรียนแบบนี้ไปอีกในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีกลายเป็น “ตัวช่วย” สำคัญในการเรียนของเด็กๆ นอกจากนี้คุณครูควรพูดให้น้อย และใช้การถาม-ตอบแทน ควรให้เด็กรู้สึกสนุกไปกับการคิด และการเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามหรือการทำกระบวนการกลุ่ม รวมทั้งควรเลือกประเด็นการสอนตามยุคสมัยที่เด็กสนใจแทรกด้วย เช่น เรื่องหุ้น กองทุน ดนตรี เทคโนโลยี ฯลฯ

ดร.ปิยณัฐ ประถมวงษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำงานวิจัย โดยการระดมความเห็นจากมุมมองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นักเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิศวกรรมชีวการแพทย์ นักสังคมศาสตร์ นักปรัชญาและ
จริยศาสตร์เทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักชีววิทยาศาสตร์และสารสนเทศชีวการแพทย์ นักกฎหมายด้านไซเบอร์ ฯลฯ
จนทำให้สามารถพัฒนากรอบแนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคมได้ 4 ประเด็นสำคัญคือ 1) หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2) หลักความยุติธรรม 3) หลักการหลีกเลี่ยงอันตราย 4) หลักการสร้างประโยชน์ ซึ่งตัวอย่างการนำกรอบแนวคิดไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน ในประเด็นของการออกแบบ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างเรื่องการสื่อสารและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มด้วย เช่น การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้งานและมั่นใจในการใช้ชีวิตและเลือกตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้

ด้าน รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลจากงานวิจัยเพิ่มเติมว่า ประเด็นการวิจัยที่จะตอบสนองการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ในระยะยาว ควรเป็นเรื่องของการศึกษาปัจจัยด้านธรรมชาติของความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อเรื่องความเป็นธรรมของเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของประชาชน เพื่อให้พลเมืองมีความรอบรู้ทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนานโยบายและแนวทางการทำงานเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ โดยผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ตลอดจนเทคโนโลยีควรเป็นตัวช่วยในการขยายศักยภาพของประชาชนให้มากที่สุด

ข้อมูลจาก :

- โครงการวิจัยปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

- เสวนาหัวข้อ “เทคโนโลยี ลดหรือขยาย ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ในสถานการณ์โควิด” วันที่ 1 กันยยน 2564

- ความเหลื่อมล้ำดิจิตัลในเมืองมหานครกับความท้าทายในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
https://www.nia.or.th/InnovationinProcurement, เว็บไซต์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง