ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข สั่งปิดศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง หลังพบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พร้อมกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ควบคุมกำกับติดตามสถานบำบัดในพื้นที่ ให้ได้คุณภาพ 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีมีผู้ร้องเรียนศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี มีการทำร้ายร่างกายผู้เข้ารับการบำบัด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นั้น  


กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุข (ปปส.)  ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา สำนักพุทธศาสนา และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่า ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งสถานพยาบาลตามพระบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประกอบกับเจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ผู้ยื่นขอจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพได้มรณภาพลง เพื่อเป็นการระงับเหตุและป้องกันความเสียหายอันจำเป็นอย่างเร่งด่วน กรมการแพทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปทางวัดท่าพุราษฎร์บำรุงให้หยุดดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพและหยุดรับผู้ป่วยเข้าบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทันที เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา


นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กวดขันติดตามกำกับคุณภาพสถานบำบัดและศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติดในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน การควบคุมเฝ้าระวังให้เป็นไปตามร่างประมวลกฎหมายใหม่และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และการควบคุมกำกับติดตาม ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ลดขั้นตอนการทำงานเกิดความสะดวกต่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังสามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเร่งรัดแผนขับเคลื่อนเพื่อรองรับร่างประมวลกฎหมายใหม่ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง คือ 1.ปรับโครงสร้างในกระทรวงสาธารณสุข และเพิ่มอัตรากำลังขยายหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดให้มีทุกจังหวัด 2.ยกระดับมาตรฐาน สถานบำบัด และศูนย์ฟื้นฟูฯ ของภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการเป็นเครือข่ายอย่างเป็นระบบ 3. เพิ่มกลไกประชารัฐเข้ามาทดแทนคือ การบำบัดโดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วม (Community Based Treatment & Rehabilitation ) เพื่อให้ลดการตีตราและครอบคลุมผู้ป่วยยาเสพติด (stigma) ทุกพื้นที่ในประเทศ  4.แผนการใช้เทคโนโลยีและบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนการทำงานและติดตามผู้ป่วยให้ต่อเนื่องได้มากขึ้น และ5.ใช้เทคโนโลยี ยา หรือเวชภัณฑ์ใหม่ที่มีผลการรับรองทางการแพทย์เพื่อบำบัดยาเสพติดให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบว่า มีผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณ 3.75 ล้านคน เป็นผู้ป่วยยาเสพติดที่ควรได้รับการบำบัด 1.97 ล้านคน และผู้ป่วยยาเสพติดที่อาจพ้นโทษจากเรือนจำทั่วประเทศตามร่างประมวลกฎหมายใหม่ที่ต้องเตรียมการรองรับ โดยสถานพยาบาลบำบัดยาเสพติดของภาครัฐ ศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติดในภาคีเครือข่ายของภาครัฐ สถานพยาบาลบำบัดหรือศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติดของภาคเอกชน และมูลนิธิองค์กรการกุศลต่าง ๆ สามารถรองรับได้  250,000 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ        

เรื่องที่เกี่ยวข้อง