ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ปราม รมว.ดิจิทัลฯ ออกหน้าสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า  ยืนยันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำ! ป้องกันดีกว่าแก้ ชี้! บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสพติดหนักขึ้น ก่อโรคเรื้อรังสารพัด ยันหลายประเทศยังแบนบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมด้วยคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อปราม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายและมีท่าทีสนับสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ด้านรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่างยืนยันนโยบายไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงของบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมกล่าวยืนยันว่าไม่ใช่สินค้าปกติ มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่อุตสาหกรรมยาสูบผลิตขึ้นเพื่อเสริมการตลาดทดแทนบุหรี่มวน  ทั้งยังมีผลวิจัยทั่วโลกพิสูจน์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตสูบแบบถูกกฎหมาย กลับพบว่า เยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งไม่ใช่นักสูบหน้าเก่า แต่เป็นนักสูบหน้าใหม่จากการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์มอมเมา ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่สูบควบกันทั้ง 2 อย่าง 

นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่เลิกได้ยากมาก ส่งผลให้เกิดการอักเสบและตีบตันของหลอดเลือดในระบบการไหลเวียนและหัวใจ รวมถึงการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ และต้องเข้ารับการรักษาที่มีราคาแพง ทำลายสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ใกล้ชิดที่จะได้รับไอสารพิษ ส่วนน้ำยามีการเติมกลิ่นจากสารสกัดดอกไม้และผลไม้ ทำให้มีกลิ่นหอมเพิ่มความนิยมและเสพติดได้ง่าย เมื่อผ่านกระบวนการเผาไหม้จากขดลวดให้ความร้อน ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้หลายชนิดอีกด้วย

“ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่มีวิสัยทัศน์ปกป้องสุขภาพของประชาชน ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งคณะแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขและสุขภาพมีความภาคภูมิใจที่ ครม. ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงพาณิชย์ และประกาศต่าง ๆ มาบังคับใช้ เพื่อปกป้องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้มีการลงนามในความร่วมมือกับอีก 181 ประเทศ ในข้อตกลงความร่วมมือ FTCT ขององค์การอนามัยโลกที่จะร่วมมือกันลดจำนวนคนสูบบุหรี่” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน บอกเพียงแค่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าใช้ทดแทนและทำให้เลิกบุหรี่มวนได้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเมื่อติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะเลิกบุหรี่ฟ้าได้อย่างไร โดยเฉพาะสารนิโคตินในน้ำยาที่ใช้สูบมีความเข้มข้นแตกต่างกันและยากต่อการควบคุม ยิ่งเข้มข้นมาก การติดยายิ่งรุนแรง และโรคที่เกิดจากสารนิโคตินก็จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ยังทำการตลาดเพื่อขยายผลการจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น โฆษณาสินค้าด้วยการสร้างรูปแบบอุปกรณ์ ทั้งรูปร่าง สีสัน และ กลิ่น ให้เป็นที่ดึงดูด ทำให้กลายเป็นแฟชั่น โฆษณาในสื่อออนไลน์ที่เย้ายวนใจให้มีการใช้ในเยาวชน 

ดังนั้งจึงกล่าวได้ว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ผู้ที่สูบบุหรี่มวนแต่เดิมอยู่แล้วและต้องการเลิกสูบเท่านั้น ทั้งยังมีคนอีกจำนวนมากที่จะได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้กลายเป็นผู้ติดยาเสพติด ติดสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มักได้รับการยั่วยุได้ง่าย บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่เพียงแต่สร้างผลเสียต่อประเทศชาติในทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังส่งผลไปยังประชาชนต้องหาซื้อ มีความเจ็บป่วยขาดความสามารถในการทำงาน ยังสร้างผลร้ายต่อการรักษาสุขภาพ และรัฐต้องมีค่ารักษาพยาบาลด้วย

ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศ กล่าวว่า กรณีที่อ้างถึง 67 ประเทศที่อนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ทบทวนคำอนุญาตของประเทศเหล่านั้นว่า แต่ละประเทศล้วนมีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ และยังมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อนุญาตหรือทำการแบน การจำหน่ายด้วยเหตุผลว่า ต้องการปกป้องสุขภาพประชาชนด้วยกระบวนการ "ป้องกัน ดีกว่าแก้" 

"การเลิกสูบบุหรี่ไม่จำเป็นต้องอาศัยบุหรี่ไฟฟ้า หากต้องการเลิกสูบ ทางเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และเครือข่ายต่าง ๆ จะแนะนำวิธีการและดำเนินการช่วยเหลืออยู่อย่างเต็มกำลัง ทั้งให้คำปรึกษาพร้อมจัดหายาเลิกบุหรี่ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 โทรฟรีทุกเครือข่าย คลินิกฟ้าใส 544 แห่งทั่วประเทศ และหน่วยบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง”  ศ.นพ.ประมุข กล่าว

ทางแพทยสมาคมฯ และองค์กรร่วมจึงขอคัดค้านอย่างเต็มกำลังในการที่จะมีการพิจารณาให้มีการยกเลิกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และขอเชิญชวนให้มีการต่อต้านการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกำลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป