ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอหทัย” ฟาด “รมว.ดิจิทัลฯ” กรณีเสนอครม. ปลดล็อกขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรี ออกหน้าเชียร์บุยี่ห้อดังของบ.ข้ามชาติ ชี้ ไม่ใช่หน้าที่ ควรแก้ปัญหาการลักลอบขาย คุมข้าราชการให้ทำตามอนุสัญญาคุมยาสูบ 5.3 อย่างจริงจัง

วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) นพ.หทัย  ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิดัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) (รมว.ดิจิทัลฯ) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ว่า ควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย จะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรผู้ปลูกใบยาสูบ จะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น อ้างว่าบุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวนว่า กฎหมายไทยห้ามการนำเข้า ห้ามขายและให้บริการบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยืนยันในทางการแพทย์แล้วว่า ทำลายสุขภาพของผู้สูบเป็นอย่างมาก กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงานบางส่วน จนกลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังพบการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนสื่อออนไลน์และตลาดนัดทั่วไป

ผลิตภัณฑ์ประเภท heat-not-burn products เช่น บุหรี่ไอคอส เป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ว่า บุหรี่ประเภทนี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังพบว่าบุหรี่ประเภทนี้มีทั้งสารนิโคตินจากใบยาสูบและสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปด้วย 

รมว.ดิจิทัลฯ ควรฟังข้อมูลความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านสุขภาพ และควรทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์กับกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนและประชาชน จะเหมาะสมกว่าการเสนอความเห็นในเรื่องที่ตนเองมิได้มีหน้าที่รับผิดชอบ  

“บริษัทบุหรี่ข้ามชาติพยายามที่จะแทรกแซงกฎหมายและนโยบายควบคุมยาสูบของไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ผ่านนักการเมือง ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ  รัฐบาลจึงควรเสนอให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อป้องกันในเรื่องนี้  เพราะประเทศไทยยังมิได้ปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) มาตรา 5.3 อย่างครบถ้วน”  นพ.หทัย กล่าว

ด้าน ดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวในการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาไปมาก บางยี่ห้อเป็น liquid e-Cigarette เป็นการนำ “นิโคติน” เข้าสู่ร่างกายผ่านการทำให้เป็นไอแทนการเผาไหม้ มีการพัฒนาสูตรโดยใช้เกลือนิโคติน ซึ่งต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ Freebase Nicotine หรือ นิโคตินบริสุทธิ์ ทำให้มีค่าความเป็นกรดน้อย ผู้สูบสามารถหายใจได้ง่ายขึ้น ไม่แสบคอ นี่คืออีกเหตุผลว่า ทำไมผู้ใช้ใหม่อย่างเด็ก ๆ ถึงติดบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงยังถูกปรุงแต่งให้มีรสชาติและกลิ่นหลากหลาย ยิ่งทำให้ผู้ใช้จะได้รับสารนิโคตินที่เข้มข้นมาก

“การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมถึงโรคปอด และโรคมะเร็ง ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอันตรายกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม เพราะมีอานุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถ ข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์ ซึ่งอันตรายมาก ทั้งมีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ  ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาจำกัดการจำหน่าย หรือเป็นไปได้ที่อาจมีการยกเลิกการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย”  ดร.แกลนซ์ เสริม