ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชุมอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.กระบี่ ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน มีมติอนุมัติวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ ให้สำนักงานหลักประกันสุขภสาพแห่งชาติ(สปสช.) ใช้สำหรับโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“เมื่อประชาชนเจ็บป่วยและเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เงินที่ครม.อนุมัตินี้ก็จะไปจ่ายคืนให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาประชาชนไป โดยค่ารักษาในส่วนนี้ อาทิ ค่าบริการตรวจคัดกรอง ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการฉีดวัคซีน ค่าตรวจินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการรับวัคซีนโควิด-19 หรืออาการแทรกซ้อน”น.ส.รัชลดาแถลง

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ซึ่งครม.ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน อาทิ หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมเห็นชอบ โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 7 โครงการ กรอบวงเงิน 494 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล (2) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ฟื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดตรัง (3) โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จังหวัดระนอง (4) โครงการ Phuket Health Sandbox จังหวัดภูเก็ต (5) โครงการศูนย์กลางการท่องเที่ยวและนันทนาการชายฝั่งแห่งเมืองพังงา จังหวัดพังงา (The Park Khaolak) (6) โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร-ท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด จังหวัดกระบี่ (7) โครงการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนคลองท่อมเมืองสปา จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านการเยียวยา ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แก่ 1) ANDAMAN ECONOMIC TOURISM (เขตเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวอันดามัน) 2.) ANDAMAN GO GREEN สร้างต้นแบบในการใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 3) การเสนอเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 (พ.ศ. 2568)

2. ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) การยกระดับและพัฒนาศักยภาพศูนย์สั่งการและระบบการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 2) การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสินค้าเพื่อสุขภาพ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 3) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ปรับปรุงจวนข้าหลวงเก่า) ระยะที่ 1 4) Khaolak Surf Town พัฒนาพื้นที่เขาหลักจังหวัดพังงาให้เป็นเมืองแห่งเซิร์ฟ 5) การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่อุทยานพระนารายณ์เชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมอันดามัน 6) การพัฒนาสนามกีฬาเทศบาลนครตรังสู่มาตรฐานสากล 7) การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองพังงา 8) การพัฒนาอุตสาหกรรมมารีน่า

3.ด้านการเกษตรได้แก่ (1) การพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันทั้งระบบแบบยั่งยืน (2) การพัฒนาการประมงในอ่าวพังงาอย่างยั่งยืน (2566-2570) (Andaman Sustainable Fisheries Development Project, 2023 – 2027) (3) การส่งเสริมการเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล

ด้านที่ 4 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ (1) การเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์และการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดพังงา (2) การพัฒนาขยายพื้นที่ให้การรักษาพยาบาลโรงพยาบาลระนอง และ 5.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ (1) โครงการยกระดับศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน (2) การศึกษาระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ระบบราง และอากาศ (Multimodal Transportation) (3) การศึกษาโครงข่ายคมนาคมแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองและสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (4) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพประเภทเกาะในกลุ่มจังหวัดอันดามัน (5) การก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน พื้นที่เขตอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต (6) การปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระนอง (7) การก่อสร้างขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล (8) การยกระดับสนามบินนานาชาติกระบี่เป็น Cargo Hub และ (9) การก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา RO. เกาะพีพี อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

“ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) ยื่นเสนอประมูลสิทธิ์ให้จังหวัดภูเก็ต เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2571 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ตระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดทางเศรษฐกิจถึง 49,231 ล้านบาท มีการจ้างงาน 113,439 ตำแหน่ง รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีภาครัฐ 9,512 ล้านบาท ในช่วงการจัดงานด้วย”นายธนกรกล่าว

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2571 ของจ.ภูเก็ต มีเป้าหมายผลักดันบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ หรือเมดิคอลฮับ ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก เป็นเวทีแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการให้บริการด้านสาธารณสุขในอนาคตเพื่อรองรับการเปลี้ยนแปลงของโลกในบริบทั้เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ภาพจาก facebook ไทยคู่ฟ้า