ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขกลุ่มตกค้างยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด ล่าสุดไม่ถึง 11 ล้านคน พบ 7-8 ล้านคนเป็นกลุ่ม “Hardcore” ทางการแพทย์ หรือกลุ่มปฏิเสธรับวัคซีนด้วยหลายสาเหต ทั้งกลุ่มไม่อยู่ในพื้นที่ระบาด กลุ่มพื้นที่ห่างไกล ขณะนี้ระดมบุคลากรทุกภาคส่วนดำเนินการ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ฯลฯ ส่วนจังหวัดที่ฉีดวัคซีนน้อย พบมากภาคอีสาน-ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นพ.โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ที่น้อยลงในช่วงหลัง ว่า ตอนนี้เราทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปจำนวนมาก ที่ยังตกค้างยังไม่ได้รับวัคซีนจริงๆ จึงมีไม่ถึง 11 ล้านคน แต่อยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านคน เป็นกลุ่ม Hardcore ทางการแพทย์ หรือกลุ่มที่ปฏิเสธวัคซีนด้วยสาเหตุต่างๆ กันไป เช่น กลุ่มที่อยู่พื้นที่ไม่ระบาด กลุ่มอยู่พื้นที่ห่างไกล โดยคิดว่าไม่ได้ไปมีความเสี่ยงที่ไหน จึงไม่ไปฉีดวัคซีน หรือกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล แต่ก็เป็นหน้าที่ของเรา ในการระดมบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ไปชี้แนะข้อเท็จจริง ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์ ช่วยป้องกันการป่วยหนัก และป้องกันการสูญเสียได้จริง ส่วนที่บอกว่า มียอดตกหล่นไม่ได้รับวัคซีนที่ 11 ล้านคนนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข รับทราบตัวเลขมาตลอด และพยายามเร่งฉีดให้ครอบคลุม ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเหลือน้อยกว่า 11 ล้านแล้ว อาจจะเหลืออยู่ประมาณ 7-8 ล้านคน และตัวเลขนี้ จะน้อยลงทุกนาที เพราะเรามีการรุกฉีดถึงพื้นที่ ขอย้ำว่า ทางกระทรวงฯ มีภารกิจสำคัญ คือ การเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งเราดำเนินการเชิงรุกอย่างสุดความสามารถ ทั้งให้ความรู้ พร้อมกับรณรงค์ให้มารับวัคซีน ควบคู่ไปกับลงพื้นที่ไปให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

“สำหรับประชาชน ผมขอเรียนย้ำว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 คือ สิ่งที่จำเป็น หากท่านอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับบริการ ขอให้ท่านอย่าปฏิเสธการรับวัคซีน เพราะวัคซีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต วัคซีนที่รัฐ นำมาให้บริการผ่านการรับรองโดย WHO และ อย.ของไทยแล้ว ขอให้ประชาชนสบายใจ”

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีพื้นที่ไหนที่จำนวนการฉีดวัคซีนยังไม่มาก นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานในระบบหมอพร้อม โดยจังหวัดที่ยังฉีดได้น้อยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เช่น นครพนม เนื่องจากไม่ค่อยมีการระบาด ประชาชนไม่ค่อยกังวล ก็อาจมารับวัคซีนน้อย โดยสูตรหลักของไทยตอนนี้เป็น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ และ วัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่นั้น