ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และมูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปลายปี 2564 ครั้งที่ 19 ด้วยหัวข้อ “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ที่ โรงแรม โนโวเทล สยาม กรุงเทพฯ ผ่านการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย  Centre for Humanitarian Dialogue (HD)  โคแฟค (ประเทศไทย) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ่อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง By เจษฎ์” กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วสังคมไทยมีความเคยชินกับการเชื่อตาม ๆ กันมา เชื่อตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ บางเรื่องถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ตั้งแต่เพื่อความสนุกสนานไปจนถึงบิดเบือนเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง อาทิ จดหมายลูกโซ่หรือฟอร์เวิร์ดเมล กรณีงูสวัดถ้าเกิดขึ้นรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตได้  กรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ที่มีเพียงกระป๋องเปล่ากับเสาอากาศ แต่กลับเชื่อว่าใช้งานได้จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมไทยอยู่กับข่าวลวงมาเป็นเวลานาน เพราะมีไปจนถึงแวดวงการวิทยาศาสตร์โดยที่มีการเชื่อตามกันแบบไม่ตั้งคำถามยังเกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้การที่เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นว่าผู้รับสารมักนำเนื้อหามาเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เป็นเท็จต่าง ๆ และเกิดการแชร์ข้อมูลต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้พบข่าวปลอมเป็นจำนวนมากนั้น และเกิดทฤษฎีสมคบคิดซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อดั้งเดิม เช่น ความไม่ไว้ใจรัฐ ประเทศหรือการแพทย์ จนถึงความพยายามส่งต่อข้อมูลเพื่อช่วยเหลือกัน อาทิ ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มมีข่าวโรคระบาดแล้วยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ ก็มีการส่งต่อว่าให้ลองกลั้นหายใจ 10 วินาที หากใครทำไม่ได้แสดงว่าติดเชื้อแล้ว ซึ่งข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง เป็นต้น ประเด็นที่เป็นข่าวปลอมที่หลากหลายนั้นจึงแพร่กระจายไปได้ง่าย เพราะตรงกับใจของผู้รับสารที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ 

ในส่วนกระแสของ “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” พื้นที่ออนไลน์แห่งอนาคตที่สามารถจำลองโลกเสมือนอีกใบหนึ่งโดยให้ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ว่า หากมองในอีกมุมหนึ่งก็มีประเด็นน่าห่วง คือ ในโลกนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่น ๆ ที่อยู่ด้วยจะเป็นตัวจริงหรือมีการปลอมแปลงหน้าตาเป็นบุคคลอื่น ซึ่งก่อนหน้านี้คนเราเชื่อสิ่งที่เห็นด้วยตา ต่อมาก็เชื่อสิ่งที่เห็นในภาพ และต่อมาอีกก็เชื่อสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์

เมื่อเข้าสู่ยุคของเมตาเวิร์ส คนเข้าไปอยู่ในโลกนั้นไม่ต้องออกจากบ้าน และเราก็จะเชื่อสิ่งที่อยู่ในนั้น จึงคำถามว่า เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าข้อมูลหรือเนื้อหาที่เราเชื่อไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ขณะเดียวกันระบบการเงินในอนาคตก็จะไม่ใช่เงินที่ประเทศรับรอง เช่น เงินบาท แต่เป็น “เงินคริปโต (Cryptocurrency)” ซึ่งก็มีหลายสกุลเงินอีก และเมื่อหันไปมองผู้ให้บริการนั้นก็อยากให้เราเชื่อในสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้นอนาคตเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะถูกควบคุม (Manipulate) มากเพียงใด

อย่างไรก็ตาม แค่สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” โครงสร้างที่เป็นอยู่ก็ทำให้เราติดอยู่กับภาวะ “ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber)” เช่น เมื่อผู้ใช้งานเลือกเป็นเพื่อนกับบุคคลที่มีมุมมองแบบใด หรือเลือกกดดูเนื้อหาแบบใด หลังจากนั้นอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กก็จะทำให้ผู้ใช้งานมองเห็นแต่บุคคลหรือเนื้อหาในทำนองเดียวกัน และกรองบุคคลหรือเนื้อหาที่มีมุมมองแตกต่างออกไปจากการรับรู้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้แต่ละคนเชื่อในมุมใดมุมหนึ่งอย่างจริงจัง

ปิดท้ายด้วยวงเสวนานักคิดดิจิทัล “จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่าน อาทิ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะยังไม่ดีขึ้น แต่มันได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ดังนั้นชั่วขณะนี้ยังไม่ได้น่าเป็นห่วงมากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเกินไป

ทั้งนี้ปัจจุบันทางโคแฟคกำลังดำเนินการร่วมมือกับสื่อท้องถิ่นหรือภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน แม้จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายแหมือนกันคือสร้างความรับรู้แก่สังคม ในการสนใจพินิจพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมา และไม่ส่งต่อข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่

น.ส.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทคโนโลยีฉาดล้ำมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้นเราจะต้องรู้เท่าทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลให้มากขึ้น นอกจากการรู้จักว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นคืออะไรแล้ว ต้องรู้ถึงนัยเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย และต้องตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในนั้นด้วย เพื่อทำให้การตรวจสอบหาความข้อเท็จจริงพร้อมเผยความจริงให้ปรากฎอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างภูมิคุ้มกันในอนาคต

นายธนภณ เรามานะชัย Trainer Google News Intiative (GNI) กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน ยืนยัน “การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)” เป็นทักษะที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถพึ่งบริษัทเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวได้ บริษัทก็ต้องดำเนินการให้มีผลกำไร แม้จะสนใจจริยธรรมแต่ก็คงไม่ใช่เป้าประสงค์สูงสุด ดังนั้นคนเราจำเป็นต้องแยกให้ออกว่า อะไรจริง หรือ ไม่จริง ใช่ หรือ ไม่ใช่ และการได้ความรู้มานั้นก็ต้องรู้ให้จริงไม่ใช่เพียงรู้เพราะเชื่อตามกันมาจึงต้องมีกระบวนการศึกษาและการตั้งคำถามตั้งแต่วัยเด็ก  นอกจากเข้าใจการทำงานของแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางนำเสนอแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มด้วย เพราะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกับผู้ผลิตเนื้อหาเผยแพร่ผ่านแพลคฟอร์มอาจเป็นคนละส่วนกัน

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงเมตาเวิร์ส ความพร้อมก็มี 2 ด้าน คือระบบพร้อมหรือไม่ โดยหากวันหนึ่งสามารถทำให้เทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์อยู่ในมือคนทั่วไปได้ และคนพร้อมจะเข้าไปหรือเปล่า แต่ประเด็นนี้ยังไม่สามารถบอกได้เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอ ว่าผู้ให้บริการเมตาเวิร์สจะมีกฎหรือข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างไร ถึงกระนั้น ก็มีความพยายามสร้างการรู้เท่าทันมากขึ้น หากสามารถทำได้เร็วพอ ในวันที่เทคโนโลยีมาถึงคนก็อาจจะพร้อมก็ได้

นอกจากนี้ในวงเสวนายังมีตัวแทนจาก 2 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” คือ น.ส.สุธิดา บัวคอม จากทีม“บอท” เล่าถึงผลงานของทีมที่คิดค้นให้มีเครื่องมือส่วนขยาย (Extension) ในเว็บเบราเซอร์ ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ ที่ตรวจสอบข่าวปลอม  โดยกล่าวว่าทีมไม่ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะมีของที่ทำอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำให้กลไกตรวจสอบข่าวปลอมมาถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายได้อย่างไร

การทำงานของเครื่องมือนี้ เมื่อดาวน์โหลดมาติดตั้ง เมื่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตพบข้อความที่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ สามารถใช้งานได้เพียง “คลุมดำ” กดลากทับข้อความนั้นและ “คลิกขวา” ระบบก็จะเชื่อมไปยังฐานข้อมูลขององค์กรตรวจสอบข่าวปลอม โดยจะต้องมีการทำบันทึกความตกลงร่วม (MOU) กับองค์กรเหล่านั้นด้วย อีกทั้งย้ำว่า “ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้” ผู้สูงวัยอาจตกเป็นเหยื่อในรูปแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ก็อาจพลาดในอีกรูปแบบเช่นกัน และการรับมือของคนแต่ละรุ่นก็ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน

ด้าน น.ส.ไอริณ ประสานแสง จากทีม “New Gen Next FACTkathon” ที่เลือกใช้ “การ์ตูน” เป็นสื่อในการสร้างความตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อและไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมโดยสร้างระบบให้ผู้อ่านมีส่วนรวม เพราะเห็นว่าวัยรุ่นนั้นโตมากับการ์ตูนอยู่แล้ว ให้ความเห็นว่า ข่าวปลอมเองก็มีการพัฒนารูปแบบให้ดูแนบเนียนขึ้น หากวันหนึ่งเทคโนโลยีตรวจสอบข่าวปลอมตามไม่ทันจะทำอย่างไร ท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปที่คนที่ต้องประมวลผลให้ได้ว่าอะไรคือข่าวจริง-ข่าวปลอม แม้อาจต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะปลูกฝังก็ตาม

ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นตรงกันในประเด็นการแสวงหาความจริงร่วม ว่าต้องมีพื้นที่ให้คนแต่ละรุ่น-แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันโดยไม่มีช่องว่างทางอำนาจไม่ว่าแบบใดมากดทับ และแต่ละฝ่ายควรเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งอาจไม่มีถูก-ผิด ขณะเดียวกัน ต้องแยกแยะระหว่างข้อมูล ความรู้และความเห็น อีกทั้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงความคิด-ความเชื่อตามข้อเท็จจริงนั้นสามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด