ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจงรายละเอียดโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ชี้ไม่ใช่ลูกหลานกลุ่มสายพันธุ์น่ากังวล หรือ VOC เดิม แต่เป็นการกลายพันธุ์ใหม่ในหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะสไปร์กโปรตีน ทำให้สันนิษฐานว่ามีบางจุดที่หลบภูมิคุ้มกันได้ และมีผลดื้อต่อวัคซีน แต่เป็นเพียงคาดคะเน ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติม เบื้องต้นขออย่าตระหนก ให้ตระหนักเข้มมาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
 
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) วันที่ 27 พ.ย. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  แถลงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับสายพันธุ์ไวรัสโควิดออกเป็น สายพันธุ์ที่น่ากังวล Variant of Concern ( VOC) มี 4 ตัว คือ อัลฟา เดลตา เบตา แกมมา โดยวันนี้ เดลตามีสัดส่วนมากที่สุด    และสายพันธุ์ที่น่าสนใจ  หรือ Variance of Interest  (VOI)  ซึ่งมีแลมป์ดา กับมิว แต่ตอนนี้ไม่ได้มีบทบาทมากนัก  ล่าสุดมีสายพันธุ์น้องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ยกชั้นให้เป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวล โดยเดิมถูกจัดเป็น B.1.1.529 และให้ชื่อว่า โอไมครอน (Omicron) 
"สายพันธุ์นี้เพิ่งพบเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 จากประเทศบอสวานา และพบใน 5-6 ประเทศใกล้ๆ กัน อีกทั้งตรวจเจอในฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอ ที่สำคัญตรวจพบในบางคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งทราบอยู่แล้วว่า วัคซีนไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่ขอย้ำว่า จากการตรวจของประเทศไทย โดยตรวจไป 7 พันกว่าเคสยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : WHO ตั้งชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" พร้อมให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล VOC

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  สาเหตุถูกจัดอันดับให้เป็น VOC เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ไปกว่า 50 ตำแหน่ง และ 32 ตำแหน่งอยู่ในส่วนสำคัญ คือ โปรตีนหนาม หรือ สไปร์กโปรตีน  อีกทั้ง การกลายพันธุ์นี้ยังเคยพบใน VOC เก่าๆมาก่อน ทั้งเบตา เดลตา อัลฟา และบางตัวมีฤทธิ์ในการหลบภูมิฯ หรือดื้อต่อวัคซีน แต่บางตัวก็กลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ อย่างเบตา กลายพันธุ์ 9 ตำแหน่ง ดังนั้น ครั้งนี้จึงต้องจับตาว่า จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ แต่ขณะนี้เป็นข้อสันนิษฐานของตำแหน่งกลายพันธุ์ แต่ในโลกความเป็นจริงขณะนี้ ยังมีข้อมูลไม่มากพอ  เป็นเพียงการคาดคะเน ในห้องปฏิบัติการ และข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ที่ตรวจพบ ว่าแต่ละรายที่ตรวจพบมีค่าความเข้มข้นสูง ตรวจหาง่าย สะท้อนว่าอาจแพร่ติดเชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ทั้งหมดเป็นข้อสันนิษฐานเท่านั้น  

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า   สำหรับการเปิดประเทศนั้น ในกลุ่ม Test&Go  ยังไม่มีประเทศต้นทางระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ในกลุ่มนี้  อย่างไรก็ตาม  ผู้เดินทางเข้าระบบ Test&Go ที่ตรวจพบผลบวก ได้ประสานกับ รพ.คู่สัญญา ให้ส่งตัวอย่างผลบวกทุกตัวมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เพื่อทราบว่า 100 กว่ารายมีสายพันธุ์อย่างไร  เพื่อจะเข้มตรวจทั้งระบบแซนด์บ็อกซ์และระบบกักตัวต่อไป 

"สรุปว่า สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของกลุ่ม VOC เดิม เป็นการกลายพันธุ์ตัวใหม่ พ่อแม่จริงๆก็มาตั้งแต่อู่ฮั่น ที่น่าห่วงคือ กลายพันธุ์หลายตำแหน่ง โดยเฉพาะสไปร์กโปรตีน แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ จึงต้องติดตามร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกติดตามเรื่องนี้ ซึ่งระบบเฝ้าระวังของเรามีมาตรฐานระดับโลก ขอให้ทุกท่านตั้งสติ แต่ขอให้เข้มมาตรการในการป้องกันโรค ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ยังจำเป็น และไวรัสตัวนี้ตรวจได้เหมือนเดิมคือ RT-PCR" นพ.ศุภกิจ กล่าว

ข่าวอื่นๆ : สธ.สั่งห้าม 8 ประเทศเข้าไทย เริ่ม 1 ธ.ค. 64  สกัดโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org