ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เพิ่มมาตรการเข้มกลุ่มประเทศเข้าไทย ไม่อนุญาตคนเดินทาง 8 ประเทศเสี่ยงโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เข้าราชอาณาจักร  ย้ำรายละเอียกประเทศไทยกำหนดให้เข้าในรูปแบบ Test&Go และแซนด์บ็อกซ์ ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาแล้วให้ดำเนินการตามที่อนุญาตจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. แต่จะต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน 

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) วันที่ 27 พ.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค   แถลงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ว่า สำหรับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดนั้น มีตลอดเวลา อย่างล่าสุดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม  ไทยได้วางมาตรการดังนี้ 1.กรณีประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว  มีการแพร่ระบาดและความเสี่ยง กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยแล้วจะสั่งกักตัวเพิ่มเป็น 14 วันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และไม่อนุญาตผู้เดินทางจาก 8 ประเทศนี้เข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าประเทศไทย ทั้งระบบ COE หรือ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. แปลว่าคนเดินทางจาก 8 ประเทศนี้จะไม่ได้รับอนุญาตเข้าสู่ประเทศไทย

2.ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ที่ไม่ใช่ 8 ประเทศ จะไม่อนุญาตเข้ามาในรูปแบบ Test&Go และแซนด์บ็อกซ์ ส่วนคนเข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่กำหนด ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน จะต้องตรวจห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0 -1 , 5-6 และ 12-13 ข้อปฏิบัติจะไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าประเทศตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในภาคปฏิบัติได้มีการแจ้งไปยังสายการบิน และประเทศต่างๆ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการแล้ว ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาแล้วให้ดำเนินการตามที่อนุญาตจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. แต่จะต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  กรมวิทย์ ชี้ไทยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน"  แต่ไม่ประมาท เฝ้าระวังคนเข้าประเทศ)

"คนที่มาจากแถบแอฟริกาตอนใต้ที่มีการระบาด เราเก็บรวบรวมข้อมูลช่วง พ.ย.ที่ผ่านมา พบมีการเดินทางเข้ามาจาก 12 ประเทศ จำนวน 1,007 คน ในสายการบินต่างๆ ซึ่งเข้ามาในรูปแบบของแซนด์บอกซ์ภูเก็ต ก็ตรวจไม่พบเชื้อ แต่มาตรการต้องทำต่อเนื่องและติดตามข้อมูลใกล้ชิด" นพ.โอภาสกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า  การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แถบแอฟริกาใต้มีการกลายพันธุ์ค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว วัคซีนก็สำคัญ ซึ่งทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนน้อยสุด สิ่งที่ประชาชนจะร่วมกันทำให้ประเทศปลอดภัย คือ มาร่วมกันฉีดวัคซีน คนฉีดไปแล้ว 2-3 เข็มกังวลว่าภูมิจะตกหรือไม่ จากการติดตามคนฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ระดับดีมาก 5-6 เดือน คนฉีดครบ 2 เข็มไปแล้ว ไม่ว่าสูตรใดๆ ให้รอฟังประกาศของ สธ. เราเตรียมวัคซีนบูสเตอร์โดสไว้แล้ว เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดการติดเชื้อ สำคัญคือลดป่วยหนักและเสียชีวิต แต่วิธีการที่จะช่วยกันได้ยังเป็นมาตรการป้องกันครอบจักรวาล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง มาตรการ COVID Free Setting ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน ขอให้ร่วมกันดำเนินงาน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนนอกจาก 8 ประเทศแล้วนั้น เราอาจพบข้อมูลรายงานพบเชื้อประเทศต่างๆ ประปรายได้ ซึ่งถือเป็นข้อดีที่แต่ละประเทศร่วมกันตรวจจับหาเชื้อสายพันธุ์นี้ อย่างฮ่องกงเป็นผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตอนใต้แล้วเดินทางไป ถือเป็นเคสนำเข้า เราจะจับตาใกล้ชิด หากมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงก็จะเพิ่มมาตกรารและชี้แจงให้ทราบ แต่มาตรการที่ต้องดำเนินการก่อนล้วงหน้า คือ VUCA คือ 1. V ฉีดวัคซีน 2.U ป้องกันครอบจักรวาล 3.C COVID Free Setting และ 4.A ATK เมื่อมีความเสี่ยง หากคนไทยสามารถร่วมกันได้ก็จะมีความปลอดภัย

"ส่วนใหญ่การระบาดเยอะๆ ไม่ค่อยมาจากการเดินทางทางอากาศ เพราะเรามีมาตรการเข้มงวด ที่น่าระวัง คือ ชายแดน เราจับตาว่า ถ้าเพื่อนบ้านมีการระบาดไม่ว่าทางใต้ ตะวันตก ตะวันออก ก็ต้องใส่ใจเพิ่มขึ้น มาตรการดูแลพรมแดนคนเข้าออกเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ อย่างที่จะเปิดด่านบก ด่านเรือ มาตรการเข้มงวดไม่ต้องทบทวนอะไร อย่างระบบ Test&Go ไม่ได้เพิ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเลย ทางเรือก็เข้มงวดตรวจคนที่เข้ามาทั้งฉีดวัคซีน ตรวจ RT-PCR ทั้งลำเรือถึงเข้ามาได้ ส่วนทางบกเป็นจุดสำคัญเน้นประเทศเพื่อนบ้านที่ปลอดภัย นำร่องที่หนองคาย ไม่ได้เปิดทั้งหมด ถ้าเป็นไปด้วยดีก็ขยายต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีปรับให้ผู้เข้าประเทศระบบ Test&Go เมื่อเข้ามาให้ตรวจ ATK จะทบทวนหรือไม่   นพ.โอภาสกล่าวว่า นั่นเป็น 63 ประเทศ Test&Go ซึ่งไม่มีประเทศในแอฟริกาแม้แต่ประเทศเดียว โดยที่ประชุมรับทราบและมีมติทวีปแอฟริกาไม่ให้เข้าระบบนี้ ซึ่งประเทศที่เข้า Test&Go ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ และมีระบบเฝ้าระวังทั่วโลกและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อย่างฮ่องกงก็เป็นเคสนำเข้ายังไม่มีปัยหา เราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

ข่าวเกี่ยวข้อง :

สธ.เข้มกักตัวคนจากแอฟริกา 10-14 วัน เฝ้าระวังโควิดโอไมครอน 

WHO ตั้งชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" พร้อมให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล VOC

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org