ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผยกรณีสถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่นศึกษาไวรัสที่โลกไม่รู้จัก ชี้ศูนย์วิทยาศาสตร์จุฬาฯ เคยร่วมวิจัยแต่ยุติโครงการ เหตุกังวลความปลอดภัยทางชีวิวัตถุ ส่วนกรณีเตือนพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่กว่า 20 สายพันธุ์ อาจเกิดขึ้นได้  

 

ตามที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลที่ดร.ฉี เจิ่งลี่ ผู้อํานวยการศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนออกมาเตือนว่าพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ “มีความเสี่ยงสูง” ที่อาจก้าวข้ามมาระบาดในคน โดยช่วงท้ายของโพสต์ดังกล่าวมีการอ้างอิงข้อมูลโพสต์เมื่อเดือน เม.ย.2566 ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าวด้วย

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่นทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี2004 ภายใต้ทุนวิจัยขององค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic Virus Hunting) เพื่อหาดูไวรัสที่ไม่มีชื่อที่อาจก่อโรคในคน โดยจะมีการรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาว นำมาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อดูว่าไวรัสนั้นเข้ากับมนุษย์ได้หรือไม่ ก่อโรคได้หรือไม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เคยได้รับทุนวิจัยดังกล่าวเมื่อปี2011 เพื่อเก็บรวมรวมตัวอย่างจากค้างคาวในประเทศไทย ดูว่าอยู่ในกลุ่มไวรัสตัวใด เป็นตัวที่ก่อโรคหรือไม่ โดยความร่วมมือนี้ไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทย ยังมีประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ไทยก็ได้ยุติความร่วมมือไปในปี2018 เนื่องจากมีความกังวลถึงความปลอดภัยทางชีววัตถุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างเข้าไปเก็บเชื้อค้างคาวในพื้นที่ ที่ต้องเก็บสิ่ง ปฏิกูลค้างคาวและตัวอย่างเลือด การความปลอดภัยในขณะเก็บรักษาในห้องปฏิบัติการ

 

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อีกสาเหตุที่ไทยยุติความร่วมมือ เนื่องจากความกังวลที่จะต้องส่งตัวอย่างค้างคาวไปต่างประเทศเพื่อตัดต่อพันธุกรรมในสถาบันต่างๆ เราจึงขอยุติความร่วมมือทั้งหมด หลังจากนั้น ไทยก็ได้ทำลายตัวอย่างที่เก็บมากว่าหมื่นตัวอย่างทิ้งไปแล้ว จากนั้นปลายปี 2019 ก็พบการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในคนขึ้นมา ที่จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดการจากติดเชื้อในธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานชัดเจนขึ้นว่าไวรัสหลุดรั่วออกจากห้องปฏิบัติการ เนื่องจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบมีการตัดแต่งพันธุกรรมทำให้เข้าในมนุษย์และก่อให้เกิดโรคได้

โดยข้อมูลเหล่านี้มีการเผยแพร่เป็นวารสารทางการแพทย์ของประเทศอังกฤษ (The British Medical Journal :BMJ) เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาด้วย รวมถึงหนังสือพิมพ์ 'วอชิงตันโพสต์' ก็ได้สัมภาษณ์ตนถึงเรื่องที่ไทยยุติความร่วมมือกับองค์กรทุนวิจัย ตนยืนยันว่า การล่าไวรัสไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่สามารถ คาดการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจุลชีพที่อันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐสภาของสหรัฐฯ ก็ยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึงความเชื่อมโยงการเกิดไวรัสโควิด-19 เพื่อหาที่มาของการระบาด แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการยืนยันว่าเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากห้องปฏิบัติการ ทั้งยังมีการอ้างว่าเป็นทฤษฎีสมทบคิดด้วย

 

เมื่อถามว่ากรณีที่มีการออกมาเตือนว่าจะพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่กว่า 20 สายพันธุ์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ก็อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากกรณีที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในคน แต่กลับมีการติดเชื้อเข้าไปในสัตว์ เกิดการผสมกับเชื้อโคโรน่าในสัตว์ทำให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมก่อนกลับมาติดเชื้อในคนอีกครั้ง ก็จะทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ และอีกกรณีคือการติดเชื้อจากไวรัสที่อยู่ในห้องปฏิบัติการที่มีคลังของไวรัสอยู่จำนวนมากหรือไม่