ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)  พร้อมสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอเร่งรัดการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังอบจ.  พร้อมตอบคำถาม 10 ข้อกรณีประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา มีความห่วงใยประเด็นถ่ายโอนไปท้องถิ่น

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 14 ธ.ค.2564  นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)  พร้อมด้วยผู้แทนจากชมรมฯ และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มารับเรื่อง  เพื่อขอให้เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด  พร้อมทั้งออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าว

 

โดยเนื้อหาแถลงการณ์สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)  ระบุว่า 

ตามที่ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี             (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ด่วนที่สุด ที่ สว (กมธ 3) 0019/3303 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2564          เรื่อง ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด               อ้างคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ประชุมพิจารณามีความเห็นร่วมกัน ความว่า "การรวบรัดดำเนินการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด อาจสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต ด้วยเหตุผล 10 ข้อ" ตามที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ และความสรุปท้ายหนังสือ       "ขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาจัดให้มีคณะกรรมการศึกษากรณีดังกล่าว ให้รอบคอบก่อนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566" นั้น

สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) มีความเห็นร่วมกันว่า เจตนาของกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่มีหนังสือกราบเรียนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) นั้น ก็เพื่อยับยั้งงบประมาณ ไม่ให้มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด อันน่าจะเป็นการขัดขวางและก้าวก่าย แทรกแซงนโยบายรัฐบาล ผู้ถืออำนาจฝ่ายบริหาร น่าจะก้าวก่ายแทรกแซงคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีอำนาจหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และน่าจะก้าวก่ายแทรกแซงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น 

ข้อเสนอของประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่กราบเรียนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี      (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) นั้น น่าจะเป็นการขัดขวางประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564  ถือบังคับใช้และมีผลผูกพันกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลงนามประกาศโดยท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "หมอเจตน์" ส่งหนังสือถึงนายกฯ ขอยับยั้งถ่ายโอน รพ.สต.)

สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และ ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) ขอเรียนตอบข้อกังวลสงสัยของประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ตามที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กราบเรียนนายกรัฐมนตรี 10 ข้อ ดังต่อไปนี้

  ข้อ 1 บุคลากร รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ได้อ่านศึกษาประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.  เข้าใจชัดเจนและเมื่อได้ไตรตรองวิเคราะห์ว่าดีแล้ว จึงได้สมัครใจถ่ายโอนด้วยตนเอง พร้อมลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในแบบแสดงเจตนาสมัครใจถ่ายโอน

  ข้อ 2 พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2542 ถือบังคับใช้มากว่า 20 ปีแล้ว และในท้ายแผนฯ ฉบับที่ 2 กำหนดให้ไว้ว่าหากไม่สามารถถ่ายโอน           สอน/รพ.สต. ไป อบต./เทศบาล ได้ ก็ให้ถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ก็ได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 ภูมิภาค 5 เวที คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 และประกาศถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

  ข้อ 3 ประกาศราชกิจจานุเบกษา คู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2542 ถึงแม้นจะหลังปี 2542 จะมี พรบ.ฉบับใดประกาศใช้กี่ฉบับก็ตาม หลักการกระจายอำนาจก็ยังคงเป็นไปตามแผนกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายระบบสุขภาพทั้งหมดไม่มีฉบับใดไปขัดแย้งหรือลบล้างกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  ข้อ 4 การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นแบบพวงบริการ มีความเป็นเอกภาพกว่าการถ่ายโอนไปแบบหน่วยบริการเดี่ยว อันจะทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งขึ้น สามารถเชื่อมโยงระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ และระบบตติยภูมิให้มีศักยภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายการแบ่งกระทรวง ทบวง กรม และในกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการบริหารภูมิภาค ทั้ง สสจ. และ สสอ. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประชาชนยังคงสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของรัฐ ไม่ว่า รพ.สต. จะอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตาม พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ของ สอน./รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังคงสามารถขึ้นทะเบียนได้เหมือนเดิมตามที่กฎหมายระบบสุขภาพปฐมภูมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่สนับสนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อประโยชน์ประชาชน หาใช่วาการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ระบบสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฝ่ายเดียว ซึ่งในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นเครื่องมือกลไกในการจัดระบบบริการระดับจังหวัด และราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกำหนดแนวทางต่างๆ ไว้ในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ชัดเจนและครบถ้วนแล้ว

  ข้อ 5 วิวัฒนาการระบบสุขภาพ และโครงสร้างระบบสาธารณสุข ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากแต่รัฐ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรต้องมุ่งเน้นการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเอง และดูแลสร้างสุขภาพของตนเอง ครอบครับ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องมุ่งเน้น Self Care  มากกว่า Medical Care ให้การสร้างสุขภาพ นำการซ่อมสุขภาพ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศเพื่อลดการเสียดุลการค้า 

  ข้อ 6 การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณของรับบาลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะงบประมาณรายจ่ายใดที่เคยสนับสนุนให้ รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็โยกเปลี่ยนสนับสนุนงบประมาณให้ รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด งบประมาณใดที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยถึง รพ.สต. เพื่อใช้บริหารจัดการสร้างระบบสุขภาพก็จะได้ถึง รพ.สต. ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่นี้ บนหลักการระบบสุขภาพปฐมภูมิ “สร้างนำซ่อม”

  ข้อ 7 ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี นับแต่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานศึกษา วิจัย มีอยู่มากมาย ทั้งในส่วนของ สวรส. กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งความเห็นและมติในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความเห็นของ กพร. และ คปร. ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข ระดับปฐมภูมิ ใน สอน. / รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น ขอเพียงส่วนราชการ และองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องมีความจริงใจ 

  ข้อ 8 การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข โดยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการบูรณาการการกระจายอำนาจที่ดีที่สุด ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และกระทรวงสาธารณสุข ระบบสุขภาพปฐมภูมิยังเป็นพวงบริการอยู่ด้วยกันอย่างมีเอกภาพ และสามารถจัดการความเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ ระดับตติยภูมิ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพฉากทัศน์ที่ประโยชน์ประชาชนร่วมกัน

  ข้อ 9 คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) โดยอนุกรรมการบริหารแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะทำงานจัดทำร่างคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดทำเวทีพิจารณารับฟังคิดเห็นแล้ว เมื่อปีงบประมาณ 2563-2564 ทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 5 เวที โดยมีผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ร่วมกระบวนการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ฉบับร่าง จนประกาศราชกิจจานุเบกษาคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ออกมาถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 หาได้มีการรวบรัดตัดขั้นตอนใดๆ ตามที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เคลือบแคลงสงสัย

  ข้อ 10 กรณีมีการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ รัฐบาลมีกฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข สามารถสั่งการสั่งใช้เจ้าพนักควบคุมโรค ให้ยับยั้งควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อได้เช่นเดิม โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นรองประธานฯ  

 

จึงไม่มีเหตุผล หรือความจำเป็นใดๆ ที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา จะกราบเรียนเสนอนายกรัฐมนตรี ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด การเสนอยับยั้งการเกลี่ยงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยไม่รับฟังความเห็นของบุคลากรสาธารณสุข ใน รพ.สต. ถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ก่อนที่จะมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อยับยั้งงบประมาณนั้น เป็นเรื่องที่สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อกัน จนเกิดผลเสียหายแก่ประชาชนผู้รอรับบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่ดี จากรัฐบาล และผู้มีอำนาจรัฐ

 

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์บทบัญญัติรัฐธรรมนญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) ขอยืนยันเจตนารมณ์สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และขอนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้โปรดพิจารณาเร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิม  พระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามราชกิจจานุเบกษาที่ได้ประกาศถือบังคับใช้ และมีผลผูกพันกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้ว และได้โปรดพิจารณาสั่งการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณ คน เงิน ของ และทรัพยากรบริหารให้แก่ รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้เป็นไปตามประกาศราชกิจจานุเบกษา คู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามแผนฯ ต่อไป

ลงชื่อ  นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด แห่งประเทศไทย และนายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org