ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรมชุดใหม่ เดินหน้าเต็มสูบใช้เทคโนโลยีช่วยคุ้มครองประชาชน ชู Real Time Pharmacist   สืบค้นหาร้านขายยามีเภสัชกรประจำร้านจริง หากไม่ใช่ร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที พร้อมทั้งสนับสนุนสตาร์ทอัพ นิสิต นักศึกษาเภสัชฯ หวังต่อยอดเป็นธุรกิจ รวมถึงตั้งโฆษกสภาฯ ครั้งแรกทำหน้าที่สื่อสารครบวงจร 

หลังจากคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมชุดใหม่ วาระที่ 10 ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งมอบหมายงานเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา  ซึ่งการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดนี้จะมีวาระปฏิบัติงาน 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2565-2567 มี รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ดำรงตำแหน่งนายกสภาเภสัชกรรม กับกรรมการรวมทั้งหมด 24 ท่านในการขับเคลื่อนงานตลอด 3 ปี

Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์  นายกสภาเภสัชกรรม  พร้อมทั้ง ดร.ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 1 และ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานเร่งด่วน ทั้งประเด็นการคุ้มครองวิชาชีพ การเป็นกระบอกเสียง การให้ความเป็นธรรมทั้งเรื่องค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ อัตรากำลังที่เหมาะสมกับภาระงาน  รวมทั้งประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ให้ข้อมูลว่า สิ่งสำคัญสภาเภสัชกรรมจะเน้นการสื่อสารไปยังสมาชิกสภาฯ เพื่อให้เข้าใจ รับทราบถึงการทำงาน และสื่อสารไปยังประชาชนให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องทั้งเรื่องการใช้ยา วัคซีน  โดยล่าสุดได้แต่งตั้งโฆษกสภาเภสัชกรรมขึ้น คือ  ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ  เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสารการทำงานของสภาฯ ต่อสมาชิก และประชาชนให้ทราบข้อมูลต่างๆ รวมทั้งหากมีอะไรเกี่ยวกับวิชาชีพก็จะสื่อสารให้ทราบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิชาชีพต่างๆนั้น เช่น เรื่องค่าตอบแทน อัตรากำลังการบรรจุข้าราชการต่างๆ เราก็พร้อมเป็นกระบอกเสียง และช่วยเหลือ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงๆ เราพร้อมจะช่วยเต็มที่ ให้ประสานมายังสภาเภสัชกรรมได้

ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ  โฆษกสภาเภสัชกรรม

(อ่านข่าววิชาชีพเภสัชฯ : สภาเภสัชกรรมชุดใหม่ เดินหน้าผลักดันอัตรากำลัง “เภสัชกร” ต้องสอดคล้องภาระงานจริง..)

ดร.ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 1  กล่าวว่า เรื่องการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้อง รวมทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19  ซึ่งปัจจุบันยังมีคนกังวลเรื่องวัคซีน ดังนั้น บทบาทหนึ่งของสภาฯ คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจตรงนี้  โดยจะร่วมกับสหวิชาชีพต่างๆ ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้  สภาฯจะส่งเสริมการทำสตาร์ทอัพ (Startup)เพราะปัจจุบันคณะเภสัชฯ หลายมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนเรื่องนี้  ประกอบกับนิสิต นักศึกษาสนใจ และมีแนวคิดสาร์ทอัพกันมากขึ้น  โดยสภาฯ จะส่งเสริมเรื่องนี้ อาจมีการจัดประกวด หรือสนับสนุนแนวคิดเพื่อนำมาใช้ปฏิบัติงานจริง  ยกตัวอย่าง การพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยสื่อสารสำหรับการใช้ยาอย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้ 

ในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานด้านเภสัชฯ นั้น  ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2  ให้ข้อมูล ว่า  ขณะนี้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบว่า มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านขายยาจริงหรือไม่ ทำเป็น Real Time Pharmacist  เป็นโปรแกรม Chek-in สำหรับร้านยา เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า ร้านขายยามีเภสัชกรประจำหรือไม่ อย่างไร และอยู่ตามเวลาที่กำหนดหรือไม่  

"เราจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน ตรงนี้จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เช็กได้ว่า ร้านขายยาไหนมีเภสัชกรประจำ และเมื่อไปถึงแล้ว มีจริงหรือไม่ หากไม่มี หรือเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร ก็แจ้งเรื่องร้องเรียนมาได้  นอกจากนี้ ยังมีเทเลฟามาซีน ในการให้คำแนะนำผุู้ป่วยในภาวะมีโรคระบาด โดยให้คำแนะนำการใช้ยาผ่านออนไลน์" ภก.ปรีชา กล่าว

สำหรับการทำงานของ RealTime Pharmacist   ทางเภสัชกร ที่ประจำร้านขายยา เมื่อปฏิบัติงานอยู่  จะต้องเช็กอิน ซึ่งจะมีระบบแจ้งมายังสภาเภสัชกรรม ว่าคนนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่  ขณะที่ประชาชนเมื่อโหลดแอปพลิเคชัน ก็สามารถตรวจสอบได้ว่า บริเวณที่ตนเองอยู่นั้น มีร้านขายยาใกล้เคียงที่ไหน และมีเภสัชกรประจำร้านอยู่จริงหรือไม่  ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเพิ่มเติมให้ทราบถึงชื่อ นามสกุล ของเภสัชกร มีวุฒิการศึกษาอะไร มีประสบการณ์หรือเชี่ยวชาญด้านไหน ที่สำคัญเมื่อรับบริการแล้วก็สามารถลงคะแนนโหวดได้ว่า ร้านขายยานี้บริการประทับใจแค่ไหน ได้กี่ดาว เป็นต้น 

"ขณะนี้กำลังเริ่มดำเนินการ โดยจะร่วมกับทุกภาคส่วนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  คาดว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดช่วงต้นปี 2565 ตรงนี้จะเป็นการคุ้มครองประชาชน ให้รับยาได้อย่างถูกต้อง และมั่นใจว่าปลอดภัยจากเภสัชกรจริงๆ  เพราะหากไปร้านขายยาแล้ว แต่ไม่พบเภสัชกร เป็นคนอื่นมาอยู่แทน  สามารถแจ้งมายังสภาเภสัชกรรมได้อีกเช่นกัน" ภก.ปรีชา กล่าว

นอกจากนี้  ประชาชนที่พบเห็นสินค้า หรือยาตัวใดแล้วเกิดข้อสงสัย คิดว่าไม่ถูกต้อง หรือเป็นยาปลอม รวมทั้งประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับวิชาชีพสามารถแจ้งมายังสภาเภสัชกรรมได้โดยตรง  เกี่ยวกับการทำงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทางสภาฯ กำลังหารือเพื่อจัดทำระบบเชื่อมโยงกันทั้งหมด โดยจะร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ พร้อมกันนี้ยังจะร่วมมือในการจัดระบบการจ่ายยา การให้ความรู้เรื่องยา ผ่านระบบบริการปฐมภูมิอีกด้วย  
เป็นอีกนโยบายของสภาเภสัชกรรมที่น่าสนใจ และเอาใจช่วยให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดรายชื่อกรรมการสภาเภสัชกรรมชุดใหม่ วาระ 10 “ภก.กิตติ” นั่งนายกสภาฯ)

**************

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org