ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เลอพงศ์’ เผย ปัญหาอุปสรรคและแบบแผนถ่ายโอนภารกิจฯ ล่าสุดชี้ พ.ค. 65 อบจ.ส่งคำขอต่อคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ อีกครั้ง คาด! ภายใน 3-5 ปี รพ.สต. 9,700 กว่าแห่ง พร้อมถ่ายโอนไป อบจ. ทั้งหมด

คืบหน้ากรณีการถ่ายโอนภารกิจของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม ว่าเมื่อถ่ายโอนไปแล้วจะกระทบต่อระบบส่งต่อหรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร ท้องถิ่นจะรับไหวหรือไม่ กระบวนการขั้นตอน ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง...

ความคืบหน้าเรื่องนี้ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากคู่มือแนวทางในการขับเคลื่อนการถ่ายโอนกระจายอำนาจฯ ในรอบนี้ที่ได้มีความเห็นชอบแล้ว ในรายละเอียดในเรื่องการทำงานในทุกมิติ เขียนไว้ว่าการทำงานรพ.สต. ที่เคยสังกัด สธ. นั้น เมื่อถ่ายโอนไป อบจ. ให้ทำทุกอย่างเหมือนเดิมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งตัว จัดสรรงบผ่านระบบโรงพยาบาลหรือ CUP เป็นต้น

โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดดูว่ามีประกาศหรือคำสั่งกฎหมายอะไรที่ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการเหมือนเดิมได้ ให้ไปแก้ประกาศหรือคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติได้เหมือนเดิม แต่ถ้าหากส่วนราชการไม่สามารถ แก้ไขกฎหมายได้ไม่ทัน ในขณะที่ถ่ายโอน ไป อบจ. นั้น ให้ รพ.สต. ปฏิบัติเหมือนเดิมก่อน จนกว่าส่วนราชการเรานั้นจะไปแก้กฎหมายให้แล้วเสร็จ

ส่วนในเรื่องปัญหาอุปสรรคสิ่งที่เราคำนึง คือ บางคนอาจเป็นห่วงว่า อบจ. จะมีศักยภาพหรืออัตรากำลังในการที่จะรองรับภารกิจของ รพ. สต. ตรงนี้ได้หรือไม่

"เรามองว่าในเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัด 5 ด้านนี้ เราจะมีการตรวจสอบดูเหมือนกันว่ามีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งเราได้ประเมินมาทั้งหมด 49 อบจ. นี้พบว่า 45 อบจ. ผ่านถึงระดับดีเลิศ ที่สามารถรับถ่ายโอนได้ทั้งจังหวัด และมี 4 จังหวัด เท่านั้นที่ผ่านในระดับดีมาก ซึ่งสามารถรับถ่ายโอนได้ไม่เกิน 60 รพ.สต เรามองว่าในการบริการพี่น้องประชาชนในภารกิจของ รพ.สต. คือสนับสนุน ส่งเสริม ป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนมีโรคภัยไข้เจ็บ"

รพ.สต. ไม่มีภารกิจที่จะไปรักษา เนื่องจากยังไม่มีแพทย์ประจำ เป็นแค่การรักษาแบบขั้นประถมภูมิ เพราะฉะนั้นบางคนที่ต้องการถ่ายโอน อาจมองว่าอำนาจในการอนุมัตินั้น ถ้าหากถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นจะมีความรวดเร็วและสะดวกกว่าเพราะอยู่แค่จังหวัดหรือท้องถิ่น ซึ่งจะต่างจากการที่อยู่กระทรวงสาธารณสุข ลำดับชั้นในการอนุมัติสิ่งต่างๆ อาจมีความล่าช้าแตกต่างกัน

อย่างเช่นสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กว่าจะทำอะไรได้ต้องไปรออนุมัติที่กระทรวง อย่างไรก็ตามท้องถิ่นก็ทำให้เห็นได้ว่าได้มีการจัดการบริหาร ในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโรงพบาลสนาม การจัดหาวัคซีน การจัดหาชุด PPE หรือหน้ากากอนามัย เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจนั้น ในรอบแรก เราสรุปได้ว่า มีรพ.สต. รับถ่ายโอน 3,384 แห่ง บุคลากรที่เป็นข้าราชการมี 12,037 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้าง 9,862 คน ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ 1. กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงบประมาณฯ จะต้องนำตัวเลขของบุคลากรดังกล่าว ไปตัดตัวเลขเงินเดือนค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เคยตั้งอยู่กระทรวงสาธารณสุข ต้องทำการตัดยอดเหล่านี้ออกจากกระทรวงสาสุข หลังจากนั้น อบจ.จะต้องเป็นคนตั้งคำของบประมาณฯ แทน สรุปขั้นตอน ตอนนี้อยู่ที่กำลังดำเนินการจัดทำงบประมาณฯ ซึ่งทางอบจ. เองจะต้องเตรียมเสนอคำของบประมาณ

ส่วนหลังจากการจัดทำคำของบประมาณฯ ได้แล้วเสร็จนั้น ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 14 มกราคม 2565 ทั้งนี้ช่วงระหว่าง เดือนมกราคม - 2 ตุลาคม 2565 จะต้องมีการสำรวจว่ามีทรัพย์สิน คุรุภัณฑ์ ฯลฯ ที่ สธ. ต้องมอบให้กับ อบจ. จากนั้นทำการบันทึกการส่งมอบทรัพย์สินก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2565

นอกจากนี้สำหรับในรอบปีถัดไป ที่เหลือ อบจ. อยู่ประมาณ 27 แห่ง นั้นมีสิทธิ์ขอรับการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งให้เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยอบจ. จะต้องส่งคำขอให้กับคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ อีกครั้ง ซึ่งเราได้ตั้งเป้าหมายว่า รพ.สต. ทั้งหมดประมาณ 9,700 แห่ง คาดว่าน่าจะมีการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ทั้งหมดภายใน 3-5 ปี

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org