ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคจัดระบบแจ้งเตือนภัยโควิด-19 หลังโอไมครอนระบาดทั่วหลายประเทศ ขณะที่ไทยเชื่อว่าหลังปีใหม่พบเพิ่มขึ้น พร้อมแจงรายละเอียดข้อปฏิบัติเตือนภัยระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ เปิดรายละเอียดข้อพิจารณาระดับเตือนภัยทั้งหมด ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคขอคนไทย ชะลอเดินทางไปต่างประเทศ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ธ.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการจัดทำระดับการเตือนภัยโควิด ภายในการแถลงสถานการณ์โควิดภาพรวม และโอไมครอน ว่า  ล่าสุด  สธ. โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำระดับการเตือนภัยโรคโควิด ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบสถานการณ์ 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติม ว่า  ขณะนี้ สธ. ประเมินสถานการณ์และประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ  ทั้งนี้ สำหรับการประเมินความเสี่ยง แบ่งออกเป็นการกำหนดสีการเตือนภัย เป็นสีแดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง และเขียว  โดยการพิจารณา 2 อย่าง ได้แก่   1. พิจารณาอัตราติดเชื้อหรือผู้ป่วยมาประเมินต่อแสนประชากร   ซึ่งเป็นข้อมูลรายสัปดาห์ หากรุนแรงสุด หรือแดงเข้มติดเชื้อมากกว่า 50 คนต่อแสนประชากรต่อวัน   และ 2.ความสามารถรองรับผู้ป่วย พิจารณาจำนวนเตียงเขียว เหลือง แดง ซึ่งจะเน้นย้ำในผู้ป่วยหนัก โดยเอา 2 อย่างมารวมกันจะได้การแจ้งเตือนภัย 5 ระดับ 5 สี รวมทั้งยังพิจารณาการเตือนจากการฉีดวัคซีนโควิด ประกอบกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อนว่า ควบคุมได้แค่ไหนในระดับพื้นที่ 

เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้จะนำมาสู่การแจ้งเตือนภัย 5 ระดับ  คือ ระดับ 1 ใช้ชีวิตได้ปกติ  ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง ระดับ 3 จำกัดรวมกลุ่ม ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง และระดับ 5 จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อแบ่งมาตรการออกเป็น 5 ระดับ แบ่งปัจจัยเสี่ยงเป็น สถานที่เสี่ยง การรวมกลุ่มจำนวนมาก การเดินทางข้ามพื้นที่ข้ามจังหวัด และการเดินทางเข้าประเทศ

ยกตัวอย่างระดับ 1 ความเสี่ยงน้อย(สีเขียว) เปิดทุกอย่างได้ แต่ภายใต้โควิดฟรีเซตติ้ง และต้องป้องกันตัวเองครอบจักรวาล ระดับ 2 รวมกันทำกิจกรรมหมู่มากได้(สีเหลือง)  ระดับ 3(สีส้ม) และ 4(สีแดง)  ยังเดินทางได้ แต่มีการคัดกรอง เน้นทำงานที่บ้าน  แต่ระดับ 5 (สีแดงเข้ม) ต้องเข้มงวดสูงสุด ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน มีการเคอร์ฟิว คัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ เป็นต้น แต่ทุกอย่างก็ปรับได้ตามสถานการณ์ แต่กรอบจะใกล้เคียงกัน  

"อย่างปัจจุบันอยู่ระดับ 3 สามารถไปสถานที่เสี่ยง อย่างร้านอาหารได้ แต่ถ้าจำเป็นควรเป็นร้านอาหารเปิด อยู่ไม่แออัด แต่สถานที่ที่รวมตัวกันหมู่มากต้องไม่เกิน 200 คน และทุกอย่างต้องโควิดฟรีเซตติ้ง และเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ และขอให้มีการตรวจ ATK และย้ำมาตรการป้องกันครอบจักรวาล ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ชะลอไปก่อน และเข้าประเทศก็เป็นระบบแซนด์บ็อกซ์ เพราะเทสต์แอนด์โก ยกเลิกชั่วคราวแล้ว"  นพ.โอภาส กล่าว

ดังนั้น หากมีการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 สิ่งที่ต้องเน้นย้ำและขอความร่วมมือ ได้แก่  ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-19 free setting  อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยงระบบปิด เช่น ร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศ อยู่ที่แออัด พนักงานจะต้องฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน รวมถึงต้องสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะ และคัดกรองลูกค้าก่อนรับบริการ  เว้นระยะห่าง ซึ่งที่มาผ่านพบว่าดำเนินการได้ดี แต่ยังพบหลายร้านย่อหย่อนไปบ้าง เช่น พนักงานมาใหม่ ไม่ได้ตรวจสอบการฉีดวัคซีน  และหลายครั้งมีคนไปรวมกันหนาแน่น การรอคิวที่ไม่เว้นระยะห่าง ผู้ประกอบการต้องจัดระบบรอคิว มีการจองล่วงหน้า  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดแบบจำลอง " 3 ฉากทัศน์" โควิดระบาด! หากไม่มีมาตรการ ไร้ความร่วมมือป่วยพุ่ง! )

นพ.โอภาส กล่าวว่า ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยขอย้ำมาตรการ  VUCA ที่ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting  และ A- ATK  โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้สูงอายุ ต้องขอความกรุณาลูกหลานพาท่านมารับวัคซีน หรือกรณีอยู่พื้นที่ห่างไกล ขอให้แจ้งมา ทางเจ้าหน้าที่เราไปฉีดให้ถึงบ้าน  

" ที่สำคัญ พบว่า คนไทยเดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างมาก จริงๆ ตอนนี้ประเทศไทยปลอดภัยกว่ามาก  ซึ่งคนที่ไปต่างประเทศเมื่อกลับมา ต้องพึงระลึกเสมอว่า แม้ไม่เจอเชื้อ แต่สัปดาห์แรกที่มาอยู่ในไทยก็ต้องสังเกตอาการก่อน อย่าเพิ่งไปทำกิจกรรมคนหมู่มาก โดยเฉพาะกินอาหารร่วมกัน เพราะจะสร้างความเสี่ยงให้ตัวท่าน ให้ชุมชน ให้จังหวัด ซึ่งจริงๆ ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่บางครั้งคิดว่าไม่เป็นไร จึงต้องขอความร่วมมืออย่างจริงจัง" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นอกจากนี้ การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาล สธ.ร่วมกับกระทรวงคมนาคม จัดมาตรการต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัย โดยพนักงานให้บริการยานพาหนะต่างๆ  ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่มาตรการเพิ่มสำคัญที่อาจไม่สะดวก แต่จะปลอดภัยขึ้น  คือ หากมีการเดินทางมากกว่า  4 ชั่วโมง ขอให้การตรวจ ATK ผู้เดินทาง  ขอให้หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนในครอบครัวและคนรู้จัก 

"เชื่อว่า หลังปีใหม่จะมีการระบาด โดยเฉพาะโอไมครอนเพิ่มขึ้น ดังนั้น หลังปีใหม่ก่อนเข้าทำงาน หากมีมาตรการ work from home  ขอให้ทำก่อนต่อเนื่อง และให้ตรวจ ATK ก่อนทำงาน" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.จัดระบบการรักษาผู้ป่วยเด็ก "โอไมครอน"  เตรียมชง ครม.ปรับค่าใช้จ่ายฮอสพิเทล

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org