ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. ชี้สถานการณ์โควิด19 ในไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้นยั ยังคงระดับเตือนภัย 4 ช่วงม.ค.พบโอมิครอน 87%  โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนเกือบ 100%

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. วันนี้พบ 1,630 ราย , ปริมณฑลอย่างนนทบุรี ปทุมธานี รวมถึงกลุ่ม 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังทรงตัว เช่น ชลบุรีแนวโน้มลดลง ภูเก็ตก็ยังทรงตัว เป็นต้น ดังนั้น สธ.จึงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 และการปฏิบัติตัวของประชาชนยังอยู่ในระดับ 4 โดยขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง งดการร่วมกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทางที่ไม่จำเป็น

"เราชะลอการระบาดได้ตั้งแต่ต้นปี แต่ตอนนี้บางจังหวัดดีขึ้น บางจังหวัดก็เพิ่มมากขึ้น จึงยังเตือนภัยที่ระดับ 4 ทั้งหมด แต่อยากเตือนโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขอให้เคร่งครัดมาตรการมากขึ้น เพราะมีสัญญาณการแพร่ระบาดมากขึ้น" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า การติดเชื้อโควิดช่วงต้น ม.ค. 2565 เป็นต้นมา พบว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอนประมาณ 87% โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนเกือบ 100% นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและติดเชื้ออีกครั้งพบว่า เป็นโอมิครอน 100% ส่วนผู้ที่รับวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อไม่ค่อยได้ แต่ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตชัดเจน จึงต้องมีภูมิให้มากเพียงพอ จึงต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วกว่า 112 ล้านโดส เข็มแรกครอบคลุม 72.1% เข็มสอง 67% และเข็มสาม 15.8% โดยการฉีดวัคซีนแต่ละวันเป็นเข็ม 3 เยอะที่สุดประมาณ 70%

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด 13 ราย อยู่ในกลุ่ม 607 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งกรมควบคุมโรคทำลักษณะการระบาดวิทยา พบว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิดตั้งแต่ ม.ค. 25645 จำนวน 289 ราย พบว่า เป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี 159 คน ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 58 คน ช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 33 คน ส่วนกลุ่มอายุน้อยมีการเสียชีวิตน้อย การเสียชีวิตจึงแปรผันตามช่วงอายุ เพราะคนอายุเยอะมีโรคประจำตัวเยอะ ยิ่งอายุมากจึงยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตกว่าคนอายุน้อย โดยกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปีลงไป การเสียชีวิตจำนวนแทบไม่แตกต่างกันมาก แต่ถ้าอายุ 70 ปีขึ้นไปพบว่าเสียชีวิตมากกว่าอายุ 60-69 ปีถึงครึ่งหนึ่ง หรือเสี่ยงอันตรายกว่า 2 เท่า กลุ่มนี้ต้องรับวัคซีนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะฉีดเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ในบางราย

"แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ การฉีดเข็มกระตุ้นจึงจำเป็นมากในกลุ่ม 607 แม้จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เสี่ยงติดเชื้อจากภายนอกน้อย แต่ก็มีโอกาสรับเชื้อจากลูกหลาน คนที่ไปเยี่ยม เพราะเชื้อโรคมองไม่เห็น และติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ เวลาไปเยี่ยมผู้ใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปใกล้ชิด ก็ทำให้สูงอายุติดเตียงมีโรคประจำตัว เกิดการติดเชื้อได้ จึงอยากให้ระวังป้องกัน" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ กทม.ติดเชื้อสูงขึ้น นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กทม.ประชากรมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า มีการผ่อนปรนให้เคลื่อนที่ เปิดร้านอาหาร ดื่มสุราต่างๆ แต่ที่ผ่านมาก็คุมได้ดีมาตลอด แต่ช่วงนี้ดูขึ้นมา ก็ต้องตั้งการ์ด ดีกว่าติดเชื้อขึ้นมา 5 วันแล้วค่อยตั้งการ์ด ก็ขอให้ยังต้องระมัดระวังอย่างเข้มข้น

ถามต่อว่าผ่านจุดสูงสุดของระลอกนี้แล้วหรือยัง นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราใช้มาตรการเข้มข้นมาชะลอการติดเชื้อ จุดสูงสุดน่าจะยังไม่ถึง เพราะน้ำไหลมาเราก็กั้นไว้ อย่างฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้ช่วงแรกก็ไต่ตามเส้นสีเทา แต่ตอนนี้ผ่านเส้นสีเทาและสีแดงแล้ว กำลังมาสู่เส้นสีเขียว ก็ต้องพยายามไม่ให้การติดเชื้อขึ้นไปถึงจุดพีคของเส้นสีเขียว

ถามถึงมาตรการสำหรับผับบาร์คาราโอเกะ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ก็พิสูจน์แล้วว่าพื้นที่ปิดทำให้เกิดการระบาด อย่างการติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากครั้งใหญ่ก็เกิดในร้านอาการกึ่งผับที่ไม่เคร่งครัดทำให้ระบาด ก็อาจถือว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดในครั้งนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนนั้น เราเน้นการใช้ชีวิตประจำวันช่วงกลางมากกว่า การจับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย เดินทางติดต่อเป็นสำคัญ เราพยายามผ่อนปรนให้ส่วนใหญ่เดินได้ อย่างร้านอาหารตอนนี้มีร้องเพลงดนตรีได้ ผ่อนคลายระดับหนึ่ง แต่ต้องมีระยะห่าง 2-3 เมตร ซึ่งเรามีการประเมินตลอด หากพบการฝ่าฝืนเราก็ทำ Target Lockdown ปิดเฉพาะที่ทำไม่ได้ตามมาตรฐาน แต่อย่างสถานบันเทิงที่ปรับเป็นร้านอาหารแล้วทำได้ตามมาตรฐาน หลายแห่งทำดีก็ทำต่อไปได้

ถามถึงกรณีจะเปิดรับลงทะเบียน Test&Go วันที่ 1 ก.พ.นี้ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าประกาศเปิดรับแล้วจะเข้ามาได้เลย เพราะการจะเดินทางเข้ามานักท่องเที่ยวก้ต้องมีการจองโรงแรม ซื้อตั๋ว ซื้อประกันต่างๆ ตามข้อกำหนด ก็ต้องใช้เวลา ขณะที่สายการบินก็ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อกลับมาบินใหม่ ต้องดูปริมาณผู้โดยสารอีกด้วย ถึงเราผ่อนปรนแต่ก็มีมาตรการรองรับ ไม่ได้เปิดเหมือนเดิม เรามีมาตรการเพื่อให้เกิดการหลุดรอดน้อยที่สุด

ถามถึงการทำให้เป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ก็เป็นความตั้งใจ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป้นโรคประจำถิ่นแล้วเราไม่ต้องทำอะไร อย่างไข้หวัดใหญ่เราก็ฉีดวัคซีนทุกปี และแม้จะเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ก็ยังมีผู้เสียชีวิตทุกปี แต่น้อยมาก ซึ่งเราก็มีวิธีบริหารจัดการควบคุมโรค ก็ต้องฉีดวัคซีนต่อไป และต้องดูแลป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรค

เมื่อถามถึงแผนการฉีดวัคซีนช่วงเดือน ก.พ. นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ก็ยังฉีดทุกคน แต่เข็มหนึ่งหายากขึ้น ก็มาเน้นเข็มสองและเข็มกระตุ้น ซึ่งวัคซีนของปีนี้ส่วนใหญ่ก็นำมาฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนกรณีเข็มสี่ขอเฉพาะกลุ่มเสี่ยงมากก่อน ประชาชนทั่วไปยังเน้นฉีดเข็ม 3

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org