ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยมาตรการหลักหลังยกระดับเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 เน้นจำกัดการรวมกลุ่ม งดไปสถานที่เสี่ยง ไม่แนะนำกินอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่วนโรงเรียน ห้างสรรพสินค้าไม่ต้องปิดหากปรับมาตรการคุมเข้มได้ พร้อมเตือนจัดกิจกรรมวันเด็ก ต้องประเมินความเสี่ยงให้ดี คาดแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้นอาจพุ่งเกิน 1 หมื่นรายต่อวันในเร็ววันนี้

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 ว่า จากการประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ยกระดับการเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว สิ่งที่จะดำเนินการ คือ 1. ขอให้งดไปสถานที่เสี่ยงงดรับประทานอาหาร ดื่มสุราในร้านอาหาร สำหรับสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เช่น สถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ดี สถานที่มีคนอยู่ร่วมกันอย่างแออัด สถานที่ที่มีการใส่หน้ากากอนามัยน้อยมากหรือไม่ใส่หน้ากากอนามัย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่เป็นต้นตอการระบาดหลายคลัสเตอร์ที่กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี 2. กิจกรรมที่มีคนรวมตัวเป็นหมู่มากขอให้หลีกเลี่ยงหรืองดการไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนรวมตัวอยู่เป็นหมู่มาก

3. การเดินทางข้ามจังหวัดขอให้งดโดยสารรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทโดยไม่จำเป็น แต่หากมีความจำเป็นก็ขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้ขนส่งสาธารณะได้มีมาตรการค่อนข้างเข้มงวดไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การตรวจ ATK ในยานพาหนะที่ต้องเดินทางร่วมกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ย้ำว่ายังเดินทางข้ามจังหวัดได้แต่ขอให้เป็นกรณีจำเป็นเท่านั้นหากไม่จำเป็นก็ขอให้หลีกเลี่ยงและมีการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศขณะนี้พบว่าประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศติดเชื้อกลับมาจำนวนมาก ดังนั้น ตอนนี้หากไม่จำเป็นก็ขอให้งดเดินทางไปต่างประเทศ อย่างที่ทราบตอนนี้ถ้าเทียบสถานการณ์ทั่วโลกกับประเทศไทยและไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปมีการติดเชื้อสูงกว่าประเทศไทย ดังนั้นขอให้งดเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับมาจะต้องถูกกักตัว ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอศบค.ในวันที่ 7 ม.ค.ให้เข้มงวดในเรื่องของการปรับมาตรการเพิ่มเติม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมของโรคเข้าใกล้ 300 ล้านคนไปทุกขณะ กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ อเมริกา อินเดีย บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และในหลายๆ ทวีป ที่มีข้อสังเกตคืออัตราการเสียชีวิตเริ่มลดน้อยลงจากเดิม อยู่ที่ 2.2% ขณะนี้เหลือ 1.8% เพราะเชื้ออ่อนแรงลง มีการฉีดวัคซีนไปทั่วโลก และการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะผลกระทบจากการระบาดทั่วโลกจะมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย

“ถ้าดูในภาพรวมแนวโน้นเส้นกราฟที่ทำนายเอาไว้ค่อนข้างขึ้นเร็วถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ถ้าไม่มีมาตรการหรือความร่วมมือของประชาชนจะทำให้เรามีผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 10,000 รายได้ภายในเร็ววันนี้ แต่จำนวนเสียชีวิตจะลดลง” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการเตือนภัยโควิดระดับ 4 จะมีอะไรบ้าง นพ.โอภาส กล่าวว่า การเตือนภัยเป็นการแจ้งเตือนประชาชน และขอความร่วมมือในการดำเนินการ ทั้งสถานที่เสี่ยง การเดินทาง การไปสถานที่เสี่ยง การเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ มาตรการตามกฎหมายจะเป็นในส่วนของ ศบค. ซึ่งก็จะมีการปรับพื้นที่สี แต่จะเป็นของ ศบค. ขอให้รอการประชุมในวันพรุ่งนี้(7 ม.ค.64)

เมื่อถามกรณีการปิดโรงเรียน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรงเรียนไม่จำเป็นต้องปิด ไม่ใช่สถานที่เสี่ยงหากมีระบบที่ดี มีการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แต่จะมีจุดเสี่ยง คือ จุดรับประทานอาหาร หากทำให้ดีไม่มีความเสี่ยงก็สามารถเปิดได้ รวมไปถึงกิจกรรมร่วมกัน อย่างเชียร์กีฬา หรือทำกิจกรรมร่วมกันก็ต้องงดไป

เมื่อถามว่า ณ ขณะนี้ประชาชนต้องไม่ไปรับประทานอาหารข้างนอก หรือห้างสรรพสินค้าต้องปิดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นการแจ้งเตือนประชาชน เพราะการใช้ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ต้องระมัดระวัง เพียงแต่การรับประทานอาหารต้องถอดหน้ากากอนามัยออก หากถอดไม่นาน ความเสี่ยงก็น้อยลง รวมถึงคนที่เราไปรับประทานอาหารร่วมด้วย หลายครั้งใช้วิธีตรวจ ATK ก่อนไปรับประทานอาหารก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงระดับ 5 ที่ต้องงดหมด ยังไม่ต้องล็อกดาวน์ ตอนนี้จึงขอความร่วมมือว่า อะไรคือความเสี่ยง อะไรขอความร่วมมือ สรุปคือ มาตรการทางกฎหมายขอให้รอทาง ศบค. ซึ่งสธ.ได้เตรียมข้อมูลแล้ว โดยมีแนวทางต่างๆ อย่างการเข้าประเทศ เป็นต้น

“ส่วนห้างสรรพสินค้าก็ต้องพิจารณาว่า จุดไหนมีความเสี่ยง คือ ทั้งหมดทั้งปวงเราไม่ได้ปิดแบบเหมาโหล เพราะคนก็ต้องทำงาน หากปิดหมด พวกเขาจะต้องกลับบ้าน กลับภูมิลำเนาก็จะยิ่งเสี่ยงนำเชื้อไปแพร่ระบาดได้ รวมไปถึงโรงงาน ก็ไม่ต้องปิด ซึ่งหากพบการติดเชื้อให้ทำงานในวงจำกัดเรียกว่า บับเบิลแอนด์ซิล” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าในวันเด็กจะมีการจัดกิจกรรม และบางแห่งจะให้เด็กเข้าดูภาพยนต์ในโรงภาพยนตร์ฟรี จะเสี่ยงหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องพิจารณา 1. ถ้าระบายอากาศดีถือว่าไม่เสี่ยง 2.เด็กเข้าไปต้องไม่หนาแน่น และ 3. การใส่หน้ากากอนามัยต้องรัดกุม หาก 3 กิจกรรมปฏิบัติแล้วไม่เกิดความเสี่ยงก็จัดได้ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าคุ้มจะจัดหรือไม่ อย่างความเสี่ยงยังมี ควบคุมได้ไม่ได้ หากเลื่อนได้ก็ควรเลื่อน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมศบค. เรื่องกิจกรรมวันเด็กจะเป็นในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะแนะนำในหลักการ โดยหลักๆ สธ. จะเสนอเรื่องสถานการณ์ สรุปผลการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนปี 2565 การปรับมาตรการพื้นที่สี และมาตรการเข้าออกประเทศ เป็นต้น

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org