ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักในทุกด้าน แต่สิ่งสำคัญนอกจากระบบสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลแล้ว การดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการจำกัดกิจกรรมรวมกลุ่มทางสังคมต่างๆ ส่งผลกระทบต่ออาชีพรายได้ของผู้คนจำนวนมาก

บทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พบว่า การพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการส่งเสริมให้มีรายได้ดำรงชีพเป็นแนวคิดสำคัญเพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ในการสัมมนาวิชาการ "โรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน" ซึ่งคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงานว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนกรณีติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ว่างงานยังมีปัญหา ผู้ประกันตนบางส่วนไปกู้เงินนอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดของสถาบันการเงินต่าง ๆ โครงการสัมมนานี้จึงอยากให้ได้มาพูดคุยกันว่าเราจะมีโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อดูแลพี่้น้องอย่างไร ธนาคารแรงงานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับการดูแลดีขึ้น

นอกจากผลกระทบด้านการเจ็บป่วยที่อาจส่งผลถึงชีวิตแล้ว สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือภาวะเศรษบกิจที่หยุดชะงักกำลังจะส่งผลให้มีการเลิกจ้างและมีผู้ว่างงานนับ 10 ล้านคน ณรงค์ รัตนานุกูล ประธานอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม คณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษากรณีติดโควิดที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก การระบาดทำให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตน ในมาตรา 33 ซึ่งมีจำนวน 11.13 ล้านคน , มาตรา 39 ประมาณ 1.94 ล้านคน และ มาตรา 40 อีก ราวๆ 10.66 ล้านคน โดยผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินและหันไปกู้หนี้นอกระบบ

ในภาวะที่การแพร่ระบาดซึ่งความต้องการระบบสาธารณสุขการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น การจัดตั้งโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานประกันสังคมขึ้นมาให้บริการอาจจำเป็น แต่ก็มีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถทำได้

พล.ต.ท.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม และประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 การดูแลคนไข้ติดโควิดทั้งในและนอกโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายไปแล้ว 37,799 ล้านบาท จึงมีข้อเรียกร้องให้ตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ภายใต้สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ให้แรงงานมีหลักประกันชีวิตยั่งยืน ซึ่งกองทุนประกันสังคมในอดีตไม่ครอบคลุมโควิด

"การตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมตามข้อกฎหมายไม่ปรากฎว่าให้ประกันสังคมตั้งโรงพยาบาลได้ ซึ่งมาตรา 24 (พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533) เงินกองทุนให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่า คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบของแต่ละปี เพื่อจ่ายตามมาตรา 18 และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงาน การนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายทางการแพทย์ ไม่อาจนำเงินกองทุนตามมาตรา 24 ไปก่อสร้างสถานบริการทางการแพทย์" พล.ต.ท.นพ.ธนา กล่าว

ประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม กล่าวถึงผลการศึกษาทางวิชาการเหตุผลที่สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาล เช่น ต้องการยกระดับการบริการที่ให้ความสำคัญต่อผู้ประกันตน Social security hospital มีในหลายประเทศ มีการพัฒนาด้านการดูแลเฉพาะ ศูนย์เชี่ยวชาญแรงงานจากนั้นกระจายไปตามภูมิภาค และการดูแลเชิงลึกทางอาชีวอนามัย การไปใช้บริการในศูนย์อื่นที่มีในกระทรวงอื่นๆไม่ถือการบริการตามนโยบายของกระทรวงแรงงานเป็นหลักและยังคงมีปัญหาการเข้าถึง เป็นต้น

ในขณะที่เหตุผลไม่สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาล เช่น ขัดกันในฐานะผู้ให้บริการและจ่ายเงิน มีโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว การสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมขึ้นมาใหม่ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในการบริการ ปัญหาการจัดหาบุคลากร การบริหารที่มีจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ และปัญหาการลดรายได้ของประกันสังคม

ขณะที่ประเด็นการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นสถาบันการเงินให้การช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานนั้น สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) ในฐานะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคมกล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งสถาบันทางการเงินเพื่อแรงงานของประเทศว่า มีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2554 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ได้มีข้อเสนอว่ารัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงานโดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคมและนำเงินมาปล่อยกู้แก่คนงาน เพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

"คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เห็นว่าเพื่อให้การจัดตั้งธนาคารแรงงานมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จะต้องมีการตราพระราชบัญญัติเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารแรงงาน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติธนาคารแรงงาน พ.ศ.... ต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณา ต่อมา 22 พ.ค.2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มีการระบุถึงการปฏิรูปแรงงานการจัดตั้งธนาคารแรงงาน สร้างคุณภาพชีวิตแรงงานโดยมีการออมเงินใช้ไว้ในยามขาดแคลน”

อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารเอสเอ็มอีกล่าวว่า การจัดจั้งธนาคารแรงงานเป็นเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานและสภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความสำคัญ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558 กระทั่ง 15 ธ.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงาน ซึ่งกระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงแรงงานและธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน

สุรชัยระบุว่า ความเห็นของกระทรวงการคลังซึ่งพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า การตั้งธนาคารแรงงานอาจมีความซ้ำซ้อนกับโครงการหรือบริการที่เป็นหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน ทั้งในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตลอดจนภาคเอกชนให้การสนับสนุน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาทักษะของผู้ใช้แรงงาน มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานรับผิดชอบ อีกทั้งยังมีกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้หน่วยงานดังกล่าว ดังนั้นภาครัฐจึงควรสนับสนุนการขยายบทบาทกระทรวงแรงงานในส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาทักษะของผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารเอสเอ็มอีกล่าวอีกว่า ในส่วนกระทรวงแรงงานนั้นมีกองทุนสนับสนุน 9 กองทุนอยู่แล้ว ทั้งจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 469 ล้านบาท

"การใช้สินเชื่อที่ดีที่สุดคือการใช้สินเชื่อธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจ แต่ว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เรากำลังพูดถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินเชื่อธุรกิจ เวลาไปกู้แบงค์ก็มักไม่ได้สินเชื่อใหญ่ แต่ไปได้สินเชื่อรายย่อย ที่บ้านเรามีอยู่ผมเอามาทั้งหมด 8 ตัว โดย 6 ตัวแรกเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย กู้บ้าน ซื้อรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล หลายคนก็ผ่อนไฟแนนซ์จบ ก็ต้องเอาเล่มไปจำนำเป็นหนี้ต่อ ส่วนสินเชื่ออีก 2 ตัว คือนาโนไฟแนนซ์ ขึ้นตรงกับแบงค์ชาติวงเงิน 1 แสนกว่าล้านบาท เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ และพิโคไฟแนนซ์เป็นการเอาหนี้นอกระบบมาเข้าระบบ หลุดจากนี้ไปก็เป็นโรงรับจำนำ ผมเชื่อว่าผู้ใช้แรงงานหนีไม่พ้นตรงนี้" นายสุรชัย กล่าว

ทั้งนี้ นายสุรชัย ให้ความเห็นว่าควรนำประเด็นธนาคารแรงงานมาพิจารณา เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีวิกฤตโควิด เศรษฐกิจประเทศ งบประมาณประจำปี หนี้สาธาารณะและหนี้ครัวเรือน โครงสร้างแรงงาน สังคมดิจิทัล สังคมผู้สูงอายุ

ข้อมูลและความเห็นจากเวทีสัมนาครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มหาแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงานขึ้นอีกครั้ง ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง