ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงผลเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนเกือบ 100% ขณะที่ BA.2 ราว 68% ส่วน BA.2.2 กรณีฮ่องกงที่กังวลว่ากลายพันธุ์นั้น ไทยพบเข้าข่าย 4 ราย เป็นต่างชาติ 1 ราย คนไทย 3 ราย รอผลวิเคราะห์และข้อสรุปจาก GISAID 2-3 วันนี้

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ว่า จาการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดพบว่า ขณะนี้ 99.7% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่เมื่อแยกย่อยระหว่างวันที่ 5-11 มี.ค.2565 จำนวน 1,882 ตัวอย่าง พบว่าเป็น BA.2 เป็น 67.6% และ BA.1 สัดส่วน 32.4% ซึ่งขณะนี้ทุกเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศมี BA.2 มากเกินครึ่ง ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 11 ซึ่งไม่ได้แปลกอะไร เพราะการเก็บตัวอย่าง เป็นการสุ่ม แต่เทรนก็จะเป็น BA.2 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

“สำหรับฮ่องกงที่พบติดเชื้อสูง เสียชีวิตสูงนั้น และเมื่อมีการตรวจสายพันธุ์มองว่าอาจมาจากการกลายพันธุ์ BA.2 และเรียกว่า BA.2.2 แต่ใน GISAID ยังไม่ได้กำหนดชื่อ และยังไม่พบข้อมูลรุนแรง ซึ่งตอนนี้เจอในฮ่องกง และอังกฤษ หรือยูเค แต่โดยหลักการการที่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นยังสรุปไม่ได้ว่า มาจากสายพันธุ์ใหม่ที่พบ เนื่องจากโอมิครอนใน BA.2 ทั่วไปก็ติดเร็วอยู่แล้ว และหากติดเร็วมากและระบบการแพทย์รองรับไม่ได้ ก็อาจทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จึงยังเร็วไปที่จะบอกว่า BA.2.2 ทำให้ผู้ป่วยรุนแรงขึ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

สำหรับประเทศไทยเราซัมมิทข้อมูลไปที่จีเสส ก็สอดคล้องว่าเป็น BA.2 ส่วนใหญ่ โดยเราพบประมาณ 4 รายที่กำลังวิเคราะห์รายละเอียดว่าอาจเข้าข่ายหรือมีโอกาสเป็น BA.2.2 แต่ด้วยจีเสสยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด จึงต้องมีการติดตามใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังไม่ต้องวิตกกังวล เพราะยังไม่มีสัญญาณอะไรน่ากังวล สิ่งสำคัญต้องเฝ้าระวังเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อว่า แพร่เร็วกว่าหรือไม่ รุนแรงมากขึ้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลมากกว่านี้ หากการกลายพันธุ์ไม่ได้กระทบ 3 ส่วนนี้ก็อาจเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไป ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทย์เฝ้าระวังตลอดเวลา

“ส่วนที่ไทยกำลังวิเคราะห์ว่า ใกล้เคียง BA.2.2 มี 4 รายนั้น เป็นต่างชาติ 1 ราย ที่เหลือเป็นคนไทย 3 ราย อาการไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่ ขอรอผลวิเคราะห์เร็วๆนี้ ซึ่งตำแหน่งที่พบกลายพันธุ์ เป็นตำแหน่งสไปค์โปรตีน I1221T (S:I 1221T) คาดว่า 2-3 วันนี้จะทราบผลทั้งหมด ” นพ.ศุภกิจ กล่าว